ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (45)

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช: ต้นแบบรัฐบาลเสียงข้างน้อย

จากผลการการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2518 ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2517 ซึ่งกำหนดให้มีการแต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 100 คน เรียงลำดับ 5 อันดับพรรคการเมืองแรกที่มีผู้แทนราษฎรเข้าไปนั่งในสภาหินอ่อน คือ พรรคประชาธิปัตย์ 74 คน พรรคธรรมสังคม 45 คน พรรคชาติไทย 28 คน พรรคเกษตรสังคม 19 คน และพรรคกิจสังคม 18 คน

ปรากฏการณ์อันมีนัยสำคัญ ต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตยหลังการทำรัฐประหาร 16 กันยายน 2500 เมื่อเดินทางมาถึงจุดที่ประชาชนโดยเฉพาะประชาชนกลุ่มล่างของสังคมได้รับผลสะเทือนจากช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 นั่นคือ มีพรรคการเมืองที่ประกาศจุดยืนและแนวทางสังคมนิยมเกิดขึ้น 3 พรรค และมีจำนวนผู้แทนราษฎรดังต่อไปนี้ คือ

พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย พันเอก สมคิด ศรีสังคม เป็นหัวหน้าพรรค นายไขแสง สุกใส เป็นรองหัวหน้าพรรค ดร.บุญสนอง บุญโยทยาน เป็นเลขาธิการพรรค และนายวิรัตน์ ศักดิ์จิระภาพงษ์ เป็นรองเลขาธิการพรรค ได้ 15 คน, พรรคแนวร่วมสังคมนิยม นายแคล้ว นรปติ เป็นหัวหน้าพรรค นายพรชัย แสงชัจจ์ เป็นเลขาธิการพรรค ได้ 10 คน และ พรรคพลังใหม่ นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ เป็นหัวหน้าพรรค นายปราโมทย์ นาครทรรพ เป็นเลขาธิการพรรค ได้ 12 คน

แต่นับจากการเผยแพร่แนวคิดสังคมนิยมที่มีลักษณะกว้างขาวงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ประกอบกับการตื่นตัวทางการเมืองของเยาวชนนักเรียน นิสิต นักศึกษา โดยมีทิศทางในการก้าวออกจากรั้วสถาบันการศึกษา ซึ่งเป็นรูปแบบการเรียนรู้ในระบบ ไปสู่การประสานตัวเองเข้ากับประชาชนระดับล่าง ที่เป็นกรรมกร ชาวนา และคนจนในเมือง ผู้ประกอบอาชีพหาเช้ากินค่ำและชาวชุมชนสลัม นั่นเอง ที่นำไปสู่ขบวนการทำลายสังคมนิยม หรือที่เรียกกันว่า "ขวาพิฆาตซ้าย" รูปธรรมคือตั้งกลุ่มอันธพาลการเมืองขึ้นมาต่อต้าน ก่อกวน และทำลายด้วยความรุนแรง โดยกฎหมายบ้านเมืองที่มีลักษณะ 2 มาตรฐานไม่อาจและหรือแทบไม่เคยเข้าไปคลี่คลายความเดือดร้อนเสียหายอันเกิดจากพฤติกรรมสามานย์ทางการเมืองทำนองนี้ได้เลย

เมื่อผลการเลือกตั้งออกมาเป็นพรรคประชาธิปัตย์ที่ได้รับเลือกมากที่สุด เท่ากับกลายเป็นมือวางอันดับหนึ่งเป็นแกนในการจัดรัฐบาลผสม วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2518 จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง หม่อมราชวงศ์ เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ เป็นนายกรัฐมนตรี และได้ตั้งคณะรัฐมนตรีใน วันที่ 21 กุมภาพันธ์ รวมจำนวน 31 คน รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 6 มีนาคม เรื่องสำคัญคือปัญหาทางเศรษฐกิจและการถอนฐานทัพสหรัฐอเมริกาออกจากประเทศไทย ภายในเวลา 18 เดือน เหตุผลเพื่อให้รัฐบาลได้เตรียมการสำหรับคนไทยที่ทำงานในฐานทัพสหรัฐอเมริกาในการหางานทำใหม่

ผลการลงคะแนนลับเมื่อสิ้นสุดการอภิปราย ปรากฏว่ามีผู้รับรองนโยบายรัฐบาลเพียง 111 เสียง ไม่ไว้วางใจ 152 เสียง ไม่ออกเสียง 3 เสียง บัตรเปล่า 1 บัตร บัตรเสีย 1 บัตร รวม 268 เสียงขาดประชุม 1 คน คือ พลเรือตรี ทหาร ขำหิรัญ สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ป่วยหนักมาไม่ได้ เป็นอันว่าพรรคประชาธิปัตย์ไม่ได้รับความไว้วางใจให้บริหารประเทศ นับเป็นรัฐบาลแรกในระบอบประชาธิปไตยไทย ที่ไม่ได้ความไว้วางใจในการแถลงนโยบาย

และในการประชุมเพื่อสรรหาใหม่ หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคมได้คะแนน 105 เสียง พันเอก สมคิด ศรีสังคม 59 เสียง และหลังจากมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีจำนวน 25 คน รัฐบาลได้แถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 19 มีนาคม เมื่อมีการลงมติ รัฐบาลได้รับความไว้วางใจ 140 เสียง ไม่ไว้วางใจ 124 เสียง ไม่ออกเสียง 1 คน ขาดประชุม 4 คน

นั่นหมายความว่า หม่อมราชวงศ์ คึกฤทธิ์ ปราโมช หัวหน้าพรรคกิจสังคม ที่มีผู้แทนราษฎรในสภาเพียง 18 คน ก็สามารถจัดตั้งรัฐบาลผสมหลายพรรคจนได้ แล้วก็เริ่มดำเนินโครงการเงินผันหรือการสร้างงานในชนบท การส่งเสริมพัฒนาสภาตำบล การซื้อสัมปทานรถประจำทางของเอกชนเข้ามาเป็นของรัฐ

ทั้งนี้ผลพวงประการหนึ่งจากการที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการเรียกร้องรัฐธรรมนูญและขับไล่เผด็จการทรราชย์ นำไปสู่การเกิดการเคลื่อนไหวของผู้ใช้แรงงานขนาดมหึมาอย่างไม่เคยมาก่อน การเรียกร้องสิทธิของกรรมกรและผู้ใช้แรงงาน รวมทั้งรัฐวิสาหกิจ ขอเพิ่มค่าแรงงาน ขอค่าสวัสดิการ ในปี 2518 มีการนัดหยุดงานถึง 241 ครั้ง รวมจำนวนแรงงานที่เกี่ยวข้อง 722,946 คน เพิ่มจากปี 2517 ที่มีการนัดหยุดงาน 357 ครั้ง และมีผู้ใช้แรงงานเข้าร่วม 507,607 คน

การเคลื่อนไหวครั้งสำคัญเริ่มต้นเมื่อกรรมกรหญิงโรงงานสแตนดาร์ดการ์เมนท์ ถนนพระรามสี่ ประท้วงนายจ้างที่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้างตามกฎหมายแรงงาน กรรมกรส่วนหนึ่งที่ไม่ร่วมการประท้วงและต้องการเข้าทำงาน ในวันที่ 28 พฤษภาคม กำลังตำรวจภายใต้การนำของ พ.ต.อ.ยุทธนา วรรณโกวิท ผู้บังคับการตำรวจนครบาลใต้ ได้พยายามนำเอากรรมกรส่วนที่เข้าข้างนายจ้างเข้าทำงาน เกิดการปะทะกับฝ่ายกรรมกรที่ต้องการประท้วง ฝ่ายตำรวจตัดสินใจใช้ไม้ กระบองเข้าทุบตีกรรมกรหญิงที่นัดหยุดงาน มีผู้บาดเจ็บบาดเจ็บ 28 คน นับเป็นครั้งแรกที่เริ่มมีการใช้วิธีการแยกสลายโดยให้กรรมกรขัดแย้งกันเอง และเป็นครั้งแรกที่ฝ่ายตำรวจใช้ความรุนแรงกับกรรมกร

ขณะเดียวกัน ในการประท้วงของพนักงานโรงแรมดุสิตธานี ซึ่งเคยนัดหยุดงานมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2517 เป็นเวลา 23 วัน เพื่อเรียกร้องค่าจ้างแรงงาน ต่อมาในวันที่ 1 พฤษภาคม 2518 พนักงาน 400 คนก็นัดหยุดงานครั้งที่สอง หลังจากที่ยื่นข้อเรียกร้องต่อฝ่ายบริหารแล้ว ไม่ได้รับการตอบสนอง การนัดหยุดงานยืดเยื้อ เพราะฝ่ายเจ้าของโรงแรมไม่ยอมเจรจาและไล่ฝ่ายพนักงานออก 105 คน ทั้งยังได้ว่าจ้าง "กลุ่มกระทิงแดง" ซึ่งเป็นกลุ่มอันธพาลการเมืองที่มีแนวทาง "ขวาพิฆาตซ้าย" เข้ามาทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยและคุ้มครองทรัพย์สิน ปรากฏว่าในวันที่ 2 มิถุนายน นายเทิดภูมิ ใจดี ผู้นำพนักงานดุสิตธานีถูกลอบยิงแต่ไม่ได้รับอันตราย เหตุการณ์นี้จึงทำให้ฝ่ายศูนย์ประสานงานกรรมกรจัดการชุมนุมประท้วงใหญ่ที่ สวนลุมพินีเป็นเวลา 3 วัน ในที่สุดฝ่ายรัฐบาลได้เข้ามาจัดการปัญหา แต่คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ตัดสินให้ฝ่ายกรรมกรแพ้ ด้วยเหตุผลว่าเป็นการเรียกร้องซ้ำภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี ซึ่งขัดกับกฎหมายแรงงาน 2518

ต่อมาในวันที่ 26 กรกฎาคม เกิดการนัดหยุดงานของกรรมกรหญิงโรงงานกระเบื้องเคลือบวัฒนาวินิลไทม์ อำเภอกระทุ่มแบน ฝ่ายนายจ้างใช้อันธพาลเข้าคุ้มครองโรงงาน เกิดการปะทะกับฝ่ายกรรมกร เป็นเหตุให้ น.ส.สำราญ คำกลั่น กรรมกรหญิงอายุ 15 ปี ถูกยิงเสียชีวิต ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เกิดความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตในการนัดหยุดงาน.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 23-29 มกราคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย" กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520 ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น. จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนต...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่าย กระทิงแดง ยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบ...