รัฐนาวาที่ดูเหมือนไม่มีวันอับปาง
กับความล้มเหลว "กบฏ 9 กันยา"
กับความล้มเหลว "กบฏ 9 กันยา"
ในเวลาต่อมา ฝ่ายค้านนำโดย พล.ต.ประมาณ อดิเรกสาร และคณะได้เสนอญัตติขออภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล ในวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วันที่ 3 พฤษภาคม 2527 โดยมุ่งไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย พล.อ.สิทธิ์ จิรโรจน์ ในประเด็นการรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม การดำเนินการทางการเมืองตามระบอบประชาธิปไตย การปฏิรูประบบราชการให้มีประสิทธิภาพ เรื่องยาเสพติดให้โทษและการบริหารบ้านเมือง แต่เนื่องจากผู้เสนอญัตติไม่อยู่ชี้แจงในที่ประชุม ประธานสภาผู้แทนราษฎรจึงวินิจฉัยว่าญัตติตกไป
และจากการที่ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประกาศลดค่าเงินบาทในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2527 ส่งผลให้ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกทำหนังสือขอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายดังกล่าวและให้ปรับปรุงคณะรัฐมนตรี ทั้งยังออกอากาศทางสถานโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 และสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เสนอให้ปรับคณะรัฐมนตรี และให้ยืนค่าเงินตามอัตราเดิม ซึ่งในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2527 นายไพจิตร เอื้อทวีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อยืนยันความถูกต้องในการตัดสินใจลดค่าเงินบาท
กรณีที่พล.อ.อาทิตย์ โจมตีรัฐบาลเรื่องลดค่าเงินบาทนี้ มีผลต่อสัมพันธภาพที่เคยแนบแน่นระหว่างพล.อ.เปรม กับพล.อ.อาทิตย์
วันที่ 15 เมษายน 2528 มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภาแทนสมาชิกวุฒิสภาที่จับสลากหมุนเวียนออก จำนวน 75 คน และแต่งตั้งแทนตำแหน่งที่ขาดอีก 1 ตำแหน่ง รวมแต่งตั้งใหม่ 76 คน รวมกับสมาชิกสภาเดิมเป็น 260 คน
ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2528 สภาผู้แทนราษฎรจัดการประชุมเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามญัตติของนายบรรหาร ศิลปอาชา เลขาธิการพรรคชาติไทย และคณะ โดยระบุตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ การอภิปรายใช้เวลาถึง 14 ชั่วโมง ผลการลงมติปรากฏว่ารัฐมนตรีทุกคนที่ถูกอภิปรายได้รับความไว้วางใจ
แต่แล้วในวันอาทิตย์ที่ 9 กันยายน 2528 เกิดความพยายามก่อรัฐประหารของนายทหารนอกประจำการคณะหนึ่ง ประกอบด้วย พ.อ.มนูญ รูปขจร, พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์, พล.อ.เสริม ณ นคร, พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ร่วมด้วยทหารประจำการอีกส่วนหนึ่ง และพลเรือนบางส่วนซึ่งประกอบด้วยผู้นำแรงงานคนสำคัญๆ ได้แก่ นายสวัสดิ์ ลูกโดด, นายอาหมัด ขามเทศทอง, นายประทิน ธำรงจ้อย ฯลฯ และบุคคลสำคัญคนหนึ่งที่มีข่าวว่าให้การสนับสนุนทางด้านการเงินแก่กลุ่มผู้ก่อการ คือ นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ผู้เพิ่งหลบหนีการจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจในคดีแชร์ชาร์เตอร์ ได้ปรากฏตัวขึ้นที่กองบัญชาการรัฐประหารในฐานะแกนนำคนสำคัญ การกบฎครั้งนี้มีขึ้นในช่วงที่นายกรัฐมนตรีเดินทางไปราชการที่ประเทศ อินโดนีเซีย ส่วนพล.อ.อาทิตย์ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น อยู่ระหว่างปฏิบัติภารกิจในทวีปยุโรป
การก่อการเริ่มต้นเมื่อเวลา 03.00 น. โดยรถถังจำนวน 22 คัน จากกองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) พร้อมด้วยกำลังทหารกว่า 400 นาย จากกองกำลังทหารอากาศโยธิน เข้าควบคุมกองบัญชาการทหารสูงสุด สนามเสือป่า กรมประชาสัมพันธ์ และองค์การ สื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย และอ่านแถลงการณ์ของคณะปฏิวัติ ระบุนาม พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นหัวหน้าคณะปฏิวัติ ทั้งนี้นายเอกยุทธ อัญชันบุตร ได้และผู้นำสหภาพแรงงานและกำลังทหารส่วนหนึ่ง เข้าไปยึดองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และควบคุมตัวนายพิเชษฐ สถิรชวาล ผู้อำนวยการฯ ในขณะนั้น เพื่อนำรถขนส่งมวลชนไปรับกลุ่มผู้ใช้แรงงานเข้ามาร่วมด้วย
ต่อมาทหารฝ่ายรัฐบาล ประกอบด้วย พล.อ.เทียนชัย สิริสัมพันธ์ รองผบ.ทบ. รักษาการตำแหน่ง ผบ.ทบ., พล.ท.ชวลิต ยงใจยุทธ รองเสนาธิการทหารบก, พล.ท.พิจิตร กุลละวณิชย์ ประสานกับฝ่ายรัฐบาลซึ่งพล.อ.ประจวบ สุนทรางกูร รองนายกรัฐมนตรี อยู่ในตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ได้ตั้งกองอำนวยการกองกำลังฝ่ายรัฐบาลขึ้นที่ กรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์ (ร.11 รอ.) บางเขน และนำกองกำลังจาก พัน.1 ร.2 รอ. เข้าปราบปรามฝ่ายก่อรัฐประหาร และออกแถลงการณ์ตอบโต้ในนามของ พล.อ.อาทิตย์ กำลังเอก กองกำลังหลักของฝ่ายรัฐบาลคุมกำลังโดยกลุ่มนายทหาร จปร. 5 ประกอบด้วย พล.ท.สุจินดา คราประยูร, พล.ท.อิสระพงศ์ หนุนภักดี, พล.อ.ท.เกษตร โรจนนิล ฯลฯ
เวลาประมาณ 09.50 น. รถถังของฝ่ายกบฏ ที่ตั้งอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เริ่มระดมยิงเสาอากาศวิทยุ และอาคารของสถานีวิทยุกระจายเสียงกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ และยิงปืนกลเอ็ม 60 เข้าไปยังกรมประมวลข่าวกลาง ที่ตั้งอยู่ในวังปารุสก์ฯ เป็นเหตุให้ นีล เดวิส ผู้สื่อข่าวต่างประเทศชาวออสเตรเลีย และ บิล แรตช์ ผู้สื่อข่าวชาวอเมริกัน ของเครือข่ายเอ็นบีซี เสียชีวิต
กำลังทั้งสองฝ่ายเปิดฉากเริ่มปะทะกันอย่างรุนแรงในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญทางทหาร บนถนนราชดำเนินนอกของกรุงเทพมหานคร จนกระทั่งเวลาประมาณ 15.00 น. การเจรจาเพื่อสงบศึกได้เริ่มขึ้น โดยมี พล.ท.พิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นตัวแทนฝ่ายรัฐบาล เจรจากับ พล.อ.ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา แกนนำคนสำคัญฝ่ายรัฐประหาร จนที่สุดฝ่ายกบฏยินยอมยกเลิกปฏิบัติการ 17.30 น. สถานการณ์ที่ตึงเครียดบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เริ่มคลี่คลายเข้าสู่ความสงบ กองกำลังทั้งสองฝ่ายถอนตัวออกจากปฏิบัติการกลับเข้าที่ตั้ง
ในเวลา 18.30 น. พล.ท.พิจิตร และ พล.ท.ชวลิต ได้เดินทางไปยังสนามบินดอนเมือง เพื่อส่งตัว พ.อ.มนูญ และ น.อ.ท. มนัส รูปขจร สองแกนนำคนสำคัญในการรัฐประหารครั้งนี้ให้เดินทางไปยังสิงคโปร์ ก่อนจะติดต่อขอลี้ภัยทางการเมืองไปอยู่ในประเทศเยอรมันตะวันตก (ในเวลานั้น)
ส่วน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เดินทางกลับประเทศไทยเมื่อคืนวันที่ 9 กันยายน แล้วเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ทันที
ผลจากการกบฏล้มเหลว มีผู้ถูกดำเนินคดี 39 คน หลบหนีไปได้ 10 คน
สำหรับสาเหตุหนึ่งของความพ่ายแพ้ในความพยายามก่อรัฐประหารจนกลายเป็นเพียง "กบฏ" ว่ากันว่า พ.อ.มนูญ รูปขจร ทำหน้าที่เพียงเป็นหัวหอกออกมายึดอำนาจ เพื่อคอยกำลังเสริมของผู้อยู่เบื้องหลังตัวจริงที่จะนำกำลังออกมาสมทบ และการกบฏครั้งนี้ล้มเหลวเนื่องจาก "นัดแล้วไม่มา" ซึ่งในการปราศรัยของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ผ่านวิดิโอลิงก์เมื่อมีการชุมนุมประท้วงของกลุ่ม นปช. ในวันที่ 5 เมษายน 2552 ระบุ ว่า พล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ เป็นบุคคลที่ "นัดแล้วไม่มา" (จาก ศูนย์ข้อมูลการเมืองไทย : http://politicalbase.in.th/index.php/รัฐประหาร_9_กันยายน_2528)
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 24-30 เมษายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น