ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย"
กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520

ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น.

จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนตรีรวม 18 คน ซึ่งในเวลาต่อมานายธานินทร์ได้ให้ความเห็นเปรียบเทียบไว้ว่า รัฐบาลเปรียบเสมือนเนื้อหอย มีเปลือกหอยซึ่งได้แก่ทหารเป็นผู้ให้ความคุ้มครอง จึงถูกสื่อมวลชนขนานนามให้ว่า "รัฐบาลหอย" พร้อมทั้งตั้งสภาที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี มีจำนวน 24 คน ทำหน้าที่นิติบัญญัติ ระหว่างวันที่ 22 ตุลาคม ถึงวันที่ 20 พฤศจิกายน มี พล.อ.อ กมล เดชะตุงคะ เป็นประธาน และประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับ พ.ศ.2519 ในวันที่ 22 ตุลาคม 2519 มี 29 มาตรา ให้มีสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน มีสมาชิกจำนวน 340 คน แต่งตั้งเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2519

นายธานินทร์ กรัยวิเชียร นายกรัฐมนตรีออกปราศรัยทางโทรทัศน์เน้นการแก้ปัญหาของประเทศ 4 ประการ คือ การค้ายาเสพติดให้โทษ การฉ้อราษฎร์บังหลวง ความยากจนของราษฎร และการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของคนไทย

คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินสั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับบุคคลที่เป็นภัยต่อสังคม กวาดล้างเอกสาร อาวุธ และสั่งจับประธานสหภาพแรงงานแห่งประเทศไทย รองประธานและเลขาธิการในข้อหาร่วมมือกับศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย หมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์รัชทายาทและก่อการจลาจล และอธิบดีกรมตำรวจมีคำสั่งถอนใบอนุญาตและสั่งงดการเป็นผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาและเจ้าของหนังสือพิมพ์รวม 13 ฉบับ ตามข้อเสนอของคณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบเอกสารและสิ่งพิมพ์ ซึ่งคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินได้แต่งตั้งขึ้น

พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้ออกคำสั่ง 8 ข้อ เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติตนของข้าราชการพลเรือน ทหารและตำรวจ และให้หัวหน้าส่วนราชการทุกกระทรวง เรียกประชุมบุคคลระดับหัวหน้า ชี้แจงแนวปฏิบัติตามนโยบายของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

นอกจากนั้นยังมีคำสั่งยกเลิกองค์การนักศึกษา ห้ามมีกิจกรรมทางการเมืองทุกประเภท และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสำรวจเงินฝากในธนาคารของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย ปรากฏว่าจากยอดเงินหลายสิบล้านเหลือเพียง 3 ล้านบาทเศษ

ในเวลาต่อมา มีการวิเคราะห์กันเรื่องการยึดอำนาจของพลเรือเอกสงัดในวันที่ 6 ตุลาคม เวลา 18.00 น. ว่าเป็นการตัดหน้า พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ ซึ่งถูกคำสั่งย้ายในวันที่ 9 พฤษภาคม 2519 ให้ไปประจำกองบัญชาการทหารสูงสุด และได้รับคำสั่งย้ายอีกครั้งในวันที่ 15 มิถุนายน 2519 ให้ไปช่วยราชการประจำรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จะกระทำการในเวลา 22.00 น. ผลก็คือ พล.อ.ฉลาดถูกให้ออกจากราชการในวันที่ 10 ตุลาคม 2519 ด้วยเหตุผลว่าไม่ยอมไปรายงานตัวกับทางคณะปฏิรูปการปกครอง พล.อ.ฉลาดหลบภัยการเมืองด้วยการบวชที่วัดบวรนิเวศวิหาร แต่ขณะที่เป็นพระก็ได้ติดต่อกับกลุ่มบุคคลทั้งพลเรือนและทหารระดับต่างๆ เพื่อเตรียมการปฏิวัติ ต่อมาในวันที่ 26 มีนาคม 2520 พลเอกฉลาดลาสึกจากเพศบรรพชิตในตอนเช้า

แต่ก่อนหน้านั้นในเวลา 05.00 น. วันที่ 26 มีนาคม 2520 ดำเนินการโดยทหารจำนวนหนึ่งประมาณ 300 คน ประกอบกำลังจากทหารกองพลที่ 9 จังหวัดกาญจนบุรี และจาก ร.19 พัน 1, 2 และ 3 เข้ายึดศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี กองบัญชาการทหารสูงสุดส่วนหน้าสนามเสือป่า และกรมประชาสัมพันธ์ไว้ได้ โดยตั้งกองบัญชาการที่ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบก สวนรื่นฤดี มีนายทหาร 3 คนถูกควบคุมตัวไว้ คือ พล.อ.ประเสริฐ ธรรมศิริ รองผบ.ทบ. พล.อ.ประลอง วีระปรีย์ เสธ.ทบและ พล.ต.อรุณ ทวาทศิน ผบ.พล.1

เวลา 09.15 น. กลุ่มผู้ก่อการออกประกาศในนามคณะปฏิวัติ อ้างชื่อ พล.อ.ประเสริฐ เป็นหัวหน้า ผ่านทางวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย ในขณะที่ฝ่ายรัฐบาลโดย พล.ร.อ. สงัด ในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ออกประกาศแต่งตั้ง พล.อ.เสริม ณ นคร เป็นผู้อำนวยการรักษาพระนคร เพื่อต่อต้านการปฏิวัติ

เวลา 10.15 น. ฝ่ายรัฐบาลได้ออกแถลงการณ์ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 5 ชี้แจงสถานการณ์และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อประชาชน โดยยืนยันว่ากำลังทหาร 3 เหล่าทัพและตำรวจยังเป็นของรัฐบาล พร้อมชี้แจงว่า พล.อ.ประเสริฐถูกบีบบังคับและแอบอ้างชื่อ

ในเวลาต่อมาการเจรจาของฝ่ายกบฏเพื่อให้นายทหารที่ถูกควบคุมเข้าร่วมก่อการ แต่นายทหารทั้ง 3 ปฏิเสธ ปรากฏตามคำให้การของพยานในห้องนั้น รวมทั้ง พ.ท.สนั่น ขจรประสาธน์ (ยศในขณะนั้น) พล.อ.ฉลาดใช้อาวุธปืนสังหาร พล.ต.อรุณ ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่โดยอ้างว่า พล.ต.อรุณเข้าแย่งปืน ขณะที่ยิ่งเวลาผ่านไปก็เป็นที่แน่ชัดว่านอกจากกำลังทหารที่นำมา ไม่ปรากฏกองกำลังในกรุงเทพ ฯ เข้าร่วมก่อการด้วย ฐานอำนวยการปฏิวัติที่ศูนย์ปฏิบัติการกองทัพบกก็เริ่มถูกปิดล้อมจากรถถังของฝ่ายรัฐบาล จนถึงเวลา 13.30 น. การออกอากาศของฝ่ายกบฏก็ต้องยุติลง

จากนั้น พลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด และเป็นเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินด้วย ได้เข้าเจรจากับกลุ่มผู้ก่อการจนได้ข้อยุติ เวลา 20.30 น. รัฐบาลออกแถลงการณ์ชี้แจงเรื่องการยินยอมให้บุคคลชั้นหัวหน้าของกลุ่มผู้ก่อการ 5 คนคือ พล.อ.ฉลาด หิรัญศิริ พ.ท.สนั่น ขจรประศาสน์ พ.ต.บุญเลิศ แก้วประสิทธิ์ พ.ต.วิศิษฐ์ ควรประดิษฐ์ และ พ.ต.อัศวิน หิรัญศิริ บุตรชายของพลเอกฉลาดเดินทางออกนอกประเทศได้ เพื่อแลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัว พล.อ.ประเสริฐ กับ พล.อ.ประลอง

แต่แล้วในเวลา 21.00 น. ขณะที่ผู้ก่อการทั้ง 5 เดินทางถึงสนามบินดอนเมืองและได้ขึ้นไปนั่งรอบนเครื่องบินเพื่อเตรียมจะออกเดินทางไปประเทศไต้หวัน ทั้งหมดก็ถูกนำตัวลงมาและถูกดำเนินคดีในข้อหากบฏ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 13-19 มีนาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่าย กระทิงแดง ยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบ...