ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (53)

จาก "หอย" สู่ "อินทรีแห่งทุ่งบางเขน":
รัฐบาลพลเรือนหรือจะสู้รัฐบาลทหาร

การดำเนินคดี "กบฏ 20 มีนาคม 2520" เป็นไปอย่างรวดเร็วและเฉียบขาด ในวันที่ 21 เมษายน 2520 รัฐบาลได้ใช้อำนาจตามมาตรา 21 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับที่ 11) พุทธศักราช 2519 ตัดสินลงโทษโดยไม่ผ่านกระบวนการยุติธรรมปกติ มีคำสั่งให้ถอดยศและประหารชีวิตนายฉลาด หิรัญศิริ และจำคุกตลอดชีวิตผู้ก่อการที่เหลืออีก 4 คน ซึ่งต่อมาได้ลงโทษจำคุกตลอดชีวิตเพิ่มอีก 8 คน รวมเป็น 12 คน นอกจากนั้นยังมีผู้ได้รับโทษลดหลั่นลงมาอีก 11 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีพลเรือนที่พลเอกฉลาดชักชวนมา อาทิ นายพิชัย วาสนาส่ง, นายสมพจน์ ปิยะอุย, นายวีระ มุสิกพงศ์ ภายหลังทั้งหมดได้รับการนิรโทษกรรมเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2520

ส่วนพล.ต.อรุณ ทวาทวศิน ได้รับการเลื่อนยศหลังจากการเสียชีวิตให้เป็นพลเอก

หลังจากนั้น รัฐบาลจัดให้มีการสอบสวน จอมพล ถนอม กิตติขจร กับพวก ในข้อหากระทำผิดฐานสั่งฆ่านิสิต นักศึกษา ประชาชน ในวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ปรากฏว่ามีคำสั่งไม่ฟ้อง จอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร และพ.อ.ณรงค์ กิตติขจร เนื่องจากไม่มีพยานว่าบุคคลทั้งสามสั่งฆ่าประชาชนทั้งคำสั่งด้วยวาจาหรือลาย ลักษณ์อักษร

ในเดือนกันยายนมีเหตุการณ์สำคัญ 2 เหตุการณ์ซึ่งไม่เคยปรากฏมาก่อนเกิดขึ้น กรณีแรก เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2520 ที่จังหวัดนราธิวาส พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินกลับจากเยี่ยมราษฎรที่จังหวัดปัตตานี ขณะที่รถพระที่นั่งผ่านทางแยกกองร้อยหน่วยปฏิบัติการพิเศษจังหวัดนราธิวาส มีรถจักรยานยนต์มีพลตำรวจ อำนวย เพชรสังข์ สังกัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษ เป็นผู้ขับขี่ รถจักรยานยนต์ได้แล่นเข้าชนรถพระที่นั่งที่บังโกลนด้านซ้ายเสียหายเล็กน้อย ส่วนรถจักรยานยนต์ล้มลงและเกิดเพลิงไหม้ ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายได้รับบาดเจ็บ และในวันต่อมาวันที่ 22 กันยายน 2520 ได้มีการวางระเบิดจากวัตถุระเบิดซึ่งทำขึ้นเอง ในบริเวณสนามโรงพิธีช้างเผือก จังหวัดยะลา ใกล้เคียงกับปะรำพิธีที่ประทับซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกำลังพระราชทานธงประจำรุ่นให้แก่ลูกเสือชาวบ้าน

เหตุการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดปฏิกิริยาในหมู่ประชาชนอย่างกว้างขวาง โจมตีรัฐบาลว่าไม่สามารถถวายความอารักขาแก่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ โดยพุ่งเป้าไปที่การเรียกร้องให้นายสมัคร สุนทรเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ลาออกจากตำแหน่ง นอกจากนี้ ด้วยนโยบาย "ขวาจัด" นำไปสู่ความไม่พอใจในการปกครองในรูปเผด็จการของรัฐบาล ที่ตัวนายกรัฐมนตรีเองถึงกับลงทุนเขียนหนังสือ "ลัทธิคอมมิวนิสต์และประชาธิปไตย" พิมพ์แจกจ่ายทั่วประเทศ ประกาศโครงการพัฒนาประชาธิปไตย 12 ปี ทั้งยังกำหนดนโยบายต่างประเทศแบบโดดเดี่ยว ประกาศตัวไม่สัมพันธ์กับประเทศในค่ายคอมมิวนิสต์

คณะนายทหาร หรือ "เปลือกหอย" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ เป็นหัวหน้า จึงได้ยึดอำนาจการปกครองอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 20 ตุลาคม 2520 เป็นอันสิ้นสุด "รัฐบาลหอย" นายธานินทร์ กรัยวิเชียร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และเข้ารับตำแหน่งเลขาธิการคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน

พล.ร.อ. สงัดประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2519 และได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2520 เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2520 พร้อมกับทูนเกล้าฯถวายชื่อ พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมนะนันท์ และต่อมามีพระบรมราชโองการแต่งตั้งเข้าดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 15 นับจากปี 2475 พร้อมกับรัฐมนตรีร่วมคณะ 31 คน

ช่วงที่อยู่ในตำแหน่งทางการเมืองพล.อ.เกรียงศักดิ์ได้รับฉายาว่า "อินทรีแห่งทุ่งบางเขน"

ธรรมนูญการปกครองฯ ฉบับชั่วคราว 2520 กำหนดให้มีสภานโยบายแห่งชาติ ซึ่งพล.ร.อ.สงัดเป็นประธานกรรมการ ซึ่งกรรมการประกอบไปด้วยบุคคลในคณะรัฐประหารนั่นเอง มีหน้าที่กำหนดนโยบายแห่งชาติและแนวทางบริหารแผ่นดินในแก่รัฐบาล และธรรมนูญฉบับ 2520 กำหนดให้มีรัฐสภาเพียงสภาเดียว คือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ มีสมาชิก 360 คน มาจากการแต่งตั้ง มีหน้าที่ในการจัดทำรัฐธรรมนูญและออกกฎหมาย คณะปฏิวัติมีความมุ่งหมายที่จะให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่แล้วเสร็จในปี 2521 และจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปในปีเดียวกัน

รัฐบาลได้เสนอพระราชกฤษฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษแก่นักโทษทั่วประเทศ เนื่องในวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบรอบ 50 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว นักโทษที่ขอพระราชทานอภัยโทษครั้งนี้ มีทั้งนักโทษการเมือง ผู้ต้องหาคดี 26 มีนาคม 2520 และนักโทษเด็ดขาด หลังจากนั้น 2 วัน อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำหนังสือถึงพล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ นายกรัฐมนตรี เพื่อขอนิรโทษกรรมผู้ต้องหาคดีเหตุการณ์เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2519 และต่อมาก็ได้มีการขอนิรโทษกรรมให้กับผู้ต้องหาคดี 6 ตุลาคม 2519 อีกหลายราย รวมทั้งสมาคมทนายความแห่งประเทศไทยได้ว่าความให้ผู้ต้องหา

แต่ในขณะเดียวกันก็มีตัวแทนกลุ่มต่างๆ รวม 25 กลุ่ม ยื่นหนังสือให้ดำเนินคดีกับจำเลยที่ถูกจับ 6 ตุลาคม 2519 โดยกล่าวหาว่าผู้ต้องหาทั้งหมดมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ชัดแจ้ง ต่อมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม และปล่อยตัวผู้ต้องหาเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2521

ผลงานชิ้นสำคัญของรัฐบาลผลผลิตสืบเนื่องจากเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ และแนวนโยบายเน้นที่การปราบปรามคอมมิวนิสต์ นำไปสู่การออกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยไทยอาสาป้องกันชาติ พ.ศ. 2521 เพื่อถือเป็นแนวทางปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 4 กันยายน 2521 เป็นต้นมา โดยให้รวมกลุ่มและปรับปรุงกลุ่มราษฎรอาสาสมัครต่างๆ ทั่วประเทศประมาณ 200,000 เศษรวมเข้าเป็นรูปแบบอันหนึ่งอันเดียวกัน โดยเรียกชื่อว่า "ไทยอาสาป้องกันชาติ (ทสปช.)" ให้มีหน้าที่พัฒนาและป้องกันหมู่บ้าน มีกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ควบคุม ดูแล และมีกองทัพแต่ละภาคช่วยทำหน้าที่อบรม ในโครงการอาสาพัฒนาและป้องกันตนเองแห่งชาติ (อพป.)

ในช่วงนั้น ยังมีการโจมตีด้วยกำลังอาวุธจากฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่กระจายกันอยู่ตามภูมิภาค ในเขตป่าเขาทั่วประเทศ ต่อที่ตั้งและหน่วยปฏิบัติการทหารและตำรวจที่จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดปราจีนบุรี จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครพนม มีการวางระเบิด เผาอาคารสำนักงานและที่พัก และโจมตีบริษัทก่อสร้างทางที่จังหวัดน่าน

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ 31 สิงหาคม 2521 มี การลอบยิงเฮลิคอปเตอร์พระที่นั่งขณะที่สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินตรวจภูมิประเทศจากจังหวัดเลยไปจังหวัดหนองคาย มาถึงบริเวณภูซางเหนือ กิ่งอำเภอน้ำโสม จังหวัดอุดรธานี ได้ถูกยิงด้วยปืนเล็กกระสุนถูกบริเวณหางของเฮลิคอปเตอร์ แต่ไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 13-19 มีนาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (39)

เสียงเพลงก้องฟ้า "สู้ไม่ถอย": ถนนทุกสายมุ่งสู่ธรรมศาสตร์ เช้าวันที่ 10 ตุลาคม นิสิตนักศึกษาจากสถาบันในเขตกรุงเทพฯ รวมทั้งนักเรียนระดับอาชีวศึกษาทั้งช่างกลและช่างก่อสร้าง รวมทั้งนักศึกษาจากวิทยาลัยครูพระนคร วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา วิทยาลัยครูธนบุรี ทยอยเข้าสมทบการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะที่ตัวแทนจากวิทยาลัยครูสวนสุนันทาและวิทยาลัยวิชาการศึกษา มาแจ้งว่ากำลังส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างเดินทาง นับเป็นครั้งแรกที่นักเรียนอาชีวะประกาศตัวเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้ทางการเมือง เวลา 10.30 น. จอมพลถนอม กิตติขจร จัดแถลงข่าวว่ามีการพบเอกสารล้มล้างรัฐบาลและโปสเตอร์ที่ไม่ได้มุ่งหมายจะเรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างเดียว รวมทั้งเอกสารของพรรคคอมมิวนิสต์ จึงตั้งข้อหาเพิ่มในฐานะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงต่อรัฐ และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ ช่วงบ่าย ตัวแทนนักเรียนนิสิตนักศึกษาขึ้นเวทีที่บริเวณลานโพธิ์ ประกาศงดการเข้าสอบประจำภาคทุกสถาบัน โดยจะยืนหยัดเรียกร้องจนกว่าผู้ถูกจับกุมทั้ง 13 คนจะได้รับความเป็นธรรม สลับกับการร้องบทเพลงแห่งการต่อสู้ "สู้ไม่ถอย" ที่แต่งโดย นา

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (55)

1 ปีรัฐบาลเปรม 1-2: "กบฏเมษาฮาวาย" พ่าย หลังจากมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตั้งนายกรัฐมนตรี ผลงานลำดับแรกของ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ คือการแจ้งแก่กลุ่มการเมืองต่างๆในสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันหารือเสนอรายชื่อตัวบุคคลเข้าร่วมคณะรัฐมนตรี โดยจะให้มีรัฐมนตรีร่วมคณะน้อยที่สุด เพื่อจัดตั้งรัฐบาลภายใน 15 วัน ซึ่งในที่สุดวันที่ 12 มีนาคม 2523 จึงมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีรวม 37 คน พลเอกเปรมกล่าวปราศรัยต่อประชาชนทางสถานีวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ทุกเครือข่าย ก่อนที่จะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อขอความไว้วางใจ ในวันที่ 29 มีนาคม 2523 เพื่อที่จะเข้าแบกรับภารกิจการบริหารประเทศ โดยนายกรัฐมนตรีที่มาจากนายทหารระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพ และเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมาแล้ว 2 กระทรวงตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ หนึ่งในปัญหาหลักของคณะผู้บริหารประเทศในช่วงเวลาคาบเกี่ยวการสิ้นสลายของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ที่ดำเนินสงครามประชาชนอยู่ในเขตป่าเขามาตั้งแต่ปี 2508 นั้น ย่อมหนีไม่พ้น ปัญหาการการขับเคี่ยวกันระหว่างรัฐบาลกับกองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย ที่รัฐบาลหลังกา