ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ

ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่ายกระทิงแดงยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม

ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบวนการ "ขวาพิฆาตซ้าย" ดังนั้นกลุ่มผู้นำการชุมนุมจึงมีมติให้ย้ายเวทีเข้าไปในธรรมศาสตร์เพื่อความสะดวกในการรักษาความปลอดภัย

ช่วงกลางวันสถานีวิทยุยานเกราะเริ่มออกข่าวว่านักศึกษาที่แสดงละครมีใบหน้าคล้ายสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯถูกแขวนคอ

21.00 น. ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความเห็นชอบของนายกสภามหาวิทยาลัยฯ (ดร.ประกอบ หุตะสิงห์) ออกแถลงการณ์สั่งปิดมหาวิทยาลัย

การชุมนุมประท้วงดำเนินต่อเนื่องมาจนถึงวันที่ 5 ตุลาคม ทั้งมีการขยายตัวออกไปในอีกหลายจังหวัดที่เป็นที่ตั้งมหาวิทยาลัยในระดับภูมิภาค เช่น นักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประมาณ 700 คน เดินขบวนต่อต้านพระถนอม แล้วไปชุมนุมที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัด ส่วนที่อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี จังหวัดนครราชสีมา มีนักศึกษาเปิดอภิปรายต่อต้านพระถนอม ที่จังหวัดขอนแก่น นักศึกษาเปิดอภิปรายต่อต้านพระถนอมและมีการเผาหุ่นพระถนอม

วันที่ 5 ตุลาคม มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยคงมี ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกฯเช่นเดิม ในเวลาเดียวกับที่มีการประกาศงดสอบทุกสถาบัน และนิสิต นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ เดินทางมุ่งสู่ธรรมศาสตร์ จนผู้ชุมนุมมีจำนวนเพิ่มขึ้นเป็นเรือนหมื่น จึงย้ายการชุมนุมจากบริเวณลานโพธิ์มายังสนามฟุตบอล

ตั้งแต่เช้า หนังสือพิมพ์ดาวสยาม และบางกอกโพสต์ เผยแพร่ภาพการแสดงล้อการแขวนคอของนักศึกษาที่ลานโพธิ์ โดยพาดหัวข่าวเป็นเชิงว่าการแสดงดังกล่าวเป็นการ "หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" พร้อมกันนั้นนางนงเยาว์ สุวรรณสมบูรณ์ เข้าแจ้งความต่อนายร้อยเวรสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ให้จับกุมผู้แสดงละครหมิ่นพระบรมเดชานุภาพองค์สยามมกุฎราชกุมาร

ในเวลา 9.30 น. ที่ประชุมสหภาพแรงงาน 43 แห่ง มีมติจะเข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เพื่อยื่นข้อเสนอให้พระถนอมออกนอกประเทศ และสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานฯ จะนัดหยุดงานทั่วประเทศภายในวันที่ 11 ตุลาคม

ต่อมาในเวลา 10.00 น. สถานีวิทยุยานเกราะเปิดรายการพิเศษ เสียงของ พ.ท.อุทาร สนิทวงศ์ กล่าวเน้นเป็นระยะว่า "เดี๋ยวนี้การชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ไม่ใช่เป็นเรื่องต่อต้านพระถนอมแล้ว หากแต่เป็นเรื่องหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ" จนถึงเวลา 17.30 น. พ.อ.อุทาร ออกประกาศให้คณะกรรมการชมรมวิทยุเสรี และผู้ร่วมก่อตั้งไปร่วมประชุมที่สถานีวิทยุยานเกราะเป็นการด่วน ขณะที่ในเวลา 19.00 น. ประธานรุ่นลูกเสือชาวบ้าน เขตกรุงเทพฯ ได้ประชุมที่กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน โดยมี พล.ต.ต.เจริญฤทธิ์ จำรัสโรมรัน และนายอาคม มกรานนท์ เป็นผู้กล่าวในที่ประชุมว่า จะต่อต้านศูนย์นิสิตฯ และบุคคลที่อยู่ในธรรมศาสตร์จนถึงที่สุด

20.35 น. ชมรมวิทยุเสรี ออกแถลงการณ์มีใจความว่า "ขณะนี้มีกลุ่มคนก่อความไม่สงบ ได้ดำเนินการไปในทางที่จะทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ในกรณีต่างๆ ดังต่อไปนี้ มีการนำธงชาติคลุมตัวละครแสดงเป็นคนตายที่ข้างถนนหน้ารัฐสภา มีการใช้สื่อมวลชนที่มีแนวโน้มเอียงเช่นเดียวกับผู้ก่อความไม่สงบ ลงบทความหรือเขียนข่าวไปในทำนองที่จะทำให้เกิดช่องว่างในบวรพุทธศาสนา มีนักศึกษาผู้หนึ่งทำเป็นผู้ถูกแขวนคอ โดยผู้ก่อความไม่สงบที่มีใบหน้าคล้ายกับพระราชวงศ์ชั้นสูงองค์หนึ่ง พยายามแต่งใบหน้าเพิ่มเติมให้เหมือน"

เป้าหมายคือปลุกระดมให้กลุ่มมวลชนจัดตั้งเข้าใจไปว่านิสิต นักศึกษา และประชาชน ตลอดจนพรรคการเมืองในฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตยมาตลอดนับจากปี 2514 ต้องการทำลายชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์

แม้ว่าทางฝ่ายศูนย์นิสิตฯ จะจัดแถลงข่าวถึงข้อเท็จจริงในการแสดงทั้งนำตัวนักศึกษาทั้ง 2 คน คือ นายอภินันท์ บัวหภักดี นักศึกษาปีที่ 2 คณะรัฐศาสตร์ และนายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ นักศึกษาปีที่ 4 คณะศิลปศาสตร์ สมาชิกชุมนุมนาฏศิลป์และการละคร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาแสดงความบริสุทธิ์ใจ ที่แสดงเป็นช่างไฟฟ้า แต่ข่าวกลับไม่สามารถเผยแพร่ออกไปในวงกว้าง โดยเฉพาะในกลุ่มมวลชนที่มีการจัดตั้ง และกำลังกระเหี้ยนกระหือ มีความมุ่งร้ายต่อผู้ชุมนุม ที่ยังคงยืนหยัดรอคอยคำตอบจากรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย มาตลอดหลายวัน

แต่แล้วสื่อขวาจัดทั้งที่เป็นหนังสือพิมพ์ที่นำโดยหนังสือพิมพ์ดาวสยามและบางกอกโพสต์ รวมทั้งสถานีวิทยุในเครือกองทัพทหารทุกแห่งก็ออกข่าวเกี่ยวกับกรณีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพนี้ และระดม "ผู้รักชาติ" จำนวนนับพันไปชุมนุมที่ลานพระบรมรูปทรงม้าเพื่อต่อต้านกรณีดังกล่าว โดยเฉพาะกลุ่มพลังฝ่ายขวาเช่น กระทิงแดง ลูกเสือชาวบ้าน และนวพล จากการอ้างเอาเรื่องการหมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์นี้เอง กลุ่มต่อต้านนักศึกษาจึงสามารถระดมประชาชนที่โกรธแค้นเป็นจำนวนมากมาร่วมการชุมนุมได้ โดยประเด็นที่วิทยุยานเกราะเรียกร้องก็คือ ให้ทำลายพวก "คอมมิวนิสต์" ที่อยู่ในธรรมศาสตร์ และประท้วงรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ที่ตั้งรัฐบาลใหม่ โดยไม่ให้นายสมัคร สุนทรเวช และนายสมบุญ ศิริธร เข้าร่วมในคณะรัฐมนตรี

ช่วงดึก การชุมนุมของฝ่ายต่อต้านนักศึกษาก็ย้ายสถานที่มายังท้องสนามหลวง ตรงบริเวณฝั่งตรงข้ามธรรมศาสตร์ และได้มีการยั่วยุประชาชนอย่างหนักให้เกลียดชังนักศึกษามากยิ่งขึ้น และเช้าวันที่ ๖ ตุลาคม ก็เริ่มมีการระดมยิงอาวุธสงครามใส่เข้าใสผู้ชุมนุม ตามด้วยการใช้กองกำลังตำรวจกองปราบและหน่วยตำรวจตระเวนชายแดน นำการกวาดล้างนักศึกษาในธรรมศาสตร์ด้วยกำลังติดอาวุธหนักเบาเต็มอัตรา.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 27 กุมภาพันธ์-5 มีนาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย" กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520 ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น. จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนต...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...