เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก?
รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และนายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิดสาธารณรัฐตุรกี
จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี้ภัย ณ ประเทศเยอรมนี และในเวลาต่อมาข้าราชการทหาร ตำรวจที่เข้าร่วมก่อการครั้งนี้ต่างได้รับพระราชทานอภัยโทษ ได้รับนิรโทษกรรมทางการเมือง และได้รับการคืนยศทางทหาร โดยที่บางคนก็กลับเข้ารับราชการอีกครั้งหนึ่ง
ภายหลังเหตุการณ์ พล.ต.อาทิตย์ กำลังเอก ซึ่งเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงที่เอาการเอางานคนสำคัญในการคุมกำลังทหารต่อต้านการกบฏ ได้รับความไว้ใจจากพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นอันมาก ได้เลื่อนเป็นพลโท แม่ทัพภาคที่ 1 คุมกองกำลังรักษาพระนคร และเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ใน 6 เดือนต่อมา
สำหรับเส้นทางการก้าวบนชีวิตราชการประจำในฐานะทหารอาชีพจนมาถึงตำแหน่งผู้บัญชาชากรเหล่าทัพ และในเส้นทางข้าราชการการเมืองในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวง 2 กระทรวง กระทั่งถึงที่สุดในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นั้น มีความเป็นมาพอสังเขปดังนี้
********************
พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เกิดเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2463 ที่ตำบลบ่อยาง อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา เป็นบุตรคนที่ 6 ของอำมาตย์โท หลวงวินิจฑัณทกรรม [ต้นสกุลพระราชทาน "ติณสูลานนท์" ลำดับที่ 5121 แก่ขุนวินิจภัณฑกรรม (บึ้ง) พธำมรงค์จังหวัดสงขลา] กับ นางออด ติณสูลานนท์ เริ่มการศึกษาชั้นต้นที่โรงเรียนวัดบ่อยาง และศึกษาต่อที่โรงเรียนวชิราวุธ จังหวัดสงขลา จากนั้นเข้ามาศึกษาต่อในกรุงเทพมหานครที่โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย และเข้าศึกษาจนจบการศึกษาหลักสูตรพิเศษโรงเรียนเทคนิคทหารบก (ก่อตั้งเมื่อปี 2477 ต่อมาคือโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า) รุ่นที่ 5 สังกัดเหล่าทหารม้า
ในปี 2484 ร่วมรบในสงครามอินโดจีนระหว่างไทยกับฝรั่งเศสที่ปอยเปต กัมพูชา จากนั้นเข้าสังกัดกองทัพพายัพ ภายใต้การบังคับบัญชาของ พล.อ.หลวงเสรีเริงฤทธิ์ (จรูญ รัตนกุล เสรีเริงฤทธิ์) ร่วมรบในสงครามมหาเอเชียบุรพา (สงครามโลกครั้งที่สอง) ระหว่างปี 2485-2488 ที่เชียงตุง
หลังสงครามย้ายไปรับราชการที่จังหวัดอุตรดิตถ์ และได้รับทุนไปศึกษาต่อที่โรงเรียนยานเกราะของกองทัพบกสหรัฐ ที่ ฟอร์ตน็อกซ์ มลรัฐเคนตักกี พร้อมกับพล.อ.พิจิตร กุลละวณิชย์ และพล.อ.วิจิตร สุขมาก เมื่อปี 2495 แล้วกลับมารับตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ ต่อมามีการจัดตั้งโรงเรียนทหารม้ายานเกราะ ศูนย์การทหารม้า ที่จังหวัดสระบุรี
ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เลื่อนยศเป็นพันเอกในปี 2502 ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ และได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ จากนั้นในปี 2506 ดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า
ต่อมาในสมัยจอมพลถนอม กิตติขจรได้รับพระบรมราชโองการแต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้า ยศพลตรี เมื่อปี 2511 พร้อมกับได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา เหตุการณ์การเมืองช่วงนั้นการเลือกตั้งปี 2512 จอมพลถนอมจัดตั้งรัฐบาลที่นำโดยพรรคสหประชาไทย แต่แล้วมีการ "รัฐประหารตนเอง 17 พฤศจิกายน 2514" ตามมาด้วยเหตุการณ์ "14 ตุลาฯ" อันเป็นการสิ้นสุดระบอบการปกครอง "เผด็จการทหารสฤษดิ์-แปลก-ถนอม"
ได้รับพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งรองแม่ทัพภาคที่ 2 ในปี 2516 และเลื่อนเป็นแม่ทัพภาคที่ 2 ในปี 2517 พร้อมกับได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ "สภาสนามม้า" ซึ่งนำไปสู่การร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2517
เข้าร่วมการรัฐประหาร 2 ครั้ง นำโดยพล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ในวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ล้มรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และวันที่ 20 ตุลาคม 2520 ล้มรัฐบาลนายธานินทร์ กรัยวิเชียร พร้อมกับได้เลื่อนยศเป็นพลเอก ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก
เข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นครั้งแรกในรัฐบาล พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย พร้อมกับเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน และดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีอย่างต่อเนื่องในรัฐบาลนั้น ในปี 2522 ช่วงปลายรัฐบาลพล.อ.เกรียงศักดิ์ จึงเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ควบคู่กับตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก
พล.อ.เปรมสร้างความฮือฮาเกี่ยวกับการแต่งกายที่ต่อมาเรียกกันว่า "ชุดพระราชทาน" และได้กลายเป็นสัญลักษณ์ประจำตัวไปในที่สุด ขณะดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมนั้นเอง โดยได้ใส่ครั้งแรกในโอกาสที่ พล.อ.เปรมเป็นประธานเปิดงานฉลองครบ 60 ปี ของวงเวียน 22 กรกฎาคม และยังได้สวมชุดดังกล่าวเข้าไปในสภาเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคมปีเดียวกันอีก
********************
ในเวลานั้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญฉบับที่ 13 พุทธศักราช 2521 เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์จากกลุ่มการเมืองฟากประชาธิปไตยมาโดยตลอด กลายเป็นพลังผลักดันให้เกิดคณะทำงานรณรงค์แก้ไขรัฐธรรมนูญให้เป็นประชาธิปไตย (ครป.) มี พ.อ.สมคิด ศรีสังคม เป็นประธาน จัดประชุมสมัชชา ครป.ระหว่างวันที่ 1-3 พฤษภาคม 2524 โดยได้แถลงข้อสรุปว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะมีหลักการสำคัญ อาทิ...
นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกึ่งหนึ่งต้องมาจากเลือกตั้ง และต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ผู้มีอายุ 18 ปี บริบูรณ์มีสิทธิ์ออกเสียงเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎรต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี และสังกัดพรรคการเมือง ให้สิทธิในการชุมนุมและจัดตั้งสหภาพแรงงาน ให้ยกเลิกกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อป้องกันมิให้เกิดการรัฐประหาร ฯลฯ.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 10-16 เมษายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น