ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (1)

การอภิวัฒน์สยาม 2475: 8 ปีแรกของคณะราษฎร

ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2469 บุคคล 7 คน อันได้แก่ 1. ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี (นายทหารกองหนุน อดีตผู้บังคับหมวดทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ ในรัชกาลที่ 6) 2. ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ (นักศึกษาในโรงเรียนนายทหารปืนใหญ่ฝรั่งเศส) 3. ร.ต. ทัศนัย มิตรภักดี (นักศึกษาในโรงเรียนนายทหารม้าฝรั่งเศส) 4. นายตั้ว ลพานุกรม (นักศึกษาวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์) 5. หลวงสิริราชไมตรี (ผู้ช่วยสถานทูตสยามประจำกรุงปารีส) 6. นายแนบ พหลโยธิน (เนติบัณฑิตอังกฤษ) 7. นายปรีดี พนมยงค์ (ดุษฎีบัณฑิตกฎหมายฝ่ายนิติศาสตร์ ฝรั่งเศส) จัดให้มีการประชุม ณ หอพัก Rue du summerard ในกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

ข้อสรุปสำคัญของการประชุมคือการตกลงที่จะเคลื่อนไหวเพื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองจาก "ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์" ที่พระมหากษัตริย์อยู่เหนือกฎหมาย มาเป็นการปกครองใน "ระบอบประชาธิปไตย" ที่ มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมาย โดยตกลงที่ใช้วิธีการ "ยึดอำนาจโดยฉับพลัน" หลีกเลี่ยงการนองเลือด ส่วนหนึ่งเพื่อมิให้มหาอำนาจนักล่าอาณานิคม คือ อังกฤษและฝรั่งเศส ฉวยโอกาสเข้ามาแทรกแซงการเมืองการปกครองที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่

กลุ่มผู้ก่อการหรือที่รู้จักกันเวลาต่อมาในนาม "คณะราษฎร" วางเป้าหมายในการสร้างชาติภายใต้ระบอบประชาธิปไตยไว้ 6 ประการ ซึ่งบรรจุไว้ในประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ลงวันที่ 24 มิถุนายน 2475 นั้นเอง และต่อมาได้เรียกว่า "หลัก 6 ประการของคณะราษฎร" คือ

1. จะต้องรักษาความเป็นเอกราชทั้งหลาย เช่น เอกราชในบ้านเมือง ในทางศาล ในทางเศรษฐกิจของประเทศไว้ให้มั่นคง
2. จะรักษาความปลอดภัยในประเทศ ให้การประทุษร้ายต่อกันลดน้อยลงให้มาก
3. จะต้องบำรุงความสมบูรณ์ของราษฎรในทางเศรษฐกิจไทย รัฐบาลใหม่ จะพยายามหางานให้ราษฎรทำโดยเต็มความสามารถ จะร่างโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ไม่ปล่อยให้ราษฎรอดอยาก
4. จะต้องให้ราษฎรได้มีสิทธิเสมอภาคกัน (ไม่ใช่ให้พวกเจ้ามีสิทธิยิ่งกว่าราษฎรเช่นที่เป็นอยู่)
5. จะต้องให้ราษฎรได้มีเสรีภาพ มีความเป็นอิสสระ เมื่อเสรีภาพนี้ไม่ขัดต่อหลัก 4 ประการ ดังกล่าวแล้วข้างต้น
6. จะต้องให้มีการศึกษาอย่างเต็มที่แก่ราษฎร


เมื่อ คณะผู้ก่อการทยอยกันกลับมาประเทศสยาม ก็หาสมาชิกเข้าร่วมก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ประกอบด้วยราษฎรทุกสาขาอาชีพรวม 102 คน โดย สายพลเรือน นำโดย หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) สายทหารเรือ นำโดย น.ต. หลวงสินธุสงครามชัย (สินธุ์ กมลนาวิน) สายทหารบกแยกย่อยเป็น 2 สาย ชั้นยศต่ำ นำโดย พ.ต. หลวงพิบูลสงคราม (แปลก ขีตตะสังคะ) และสายชั้นยศสูง นำโดย พ.อ. พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน)

การอภิวัฒน์ ที่ถือว่าเป็นครั้งเดียวของสยามประเทศในเวลานั้น หรือกระทั่งเปลี่ยนเป็นประเทศไทย เปิดฉากจริงๆในวันที่ 12 มิถุนายน โดยคณะราษฎรร่วมกันวางแผนการที่บ้าน ร.ท. ประยูร ภมรมนตรี โดยมีเป้าหมายสำคัญในการควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร และวันดีเดย์ 24 มิถุนายน ก็เคลื่อนกำลังเข้าควบคุมจุดยุทธศาสตร์สำคัญในพระนคร ตลอดจนควบคุมเจ้านายที่ควบคุมกำลังทหารเอาไว้ได้ จากกนั้นจึงประกาศเปลี่ยนแปลงการปกครองของประเทศไทย จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไปเป็นระบอบประชาธิปไตย ในการปฏิบัติการ มีพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นหัวหน้าคณะราษฎร

27 มิถุนายน พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ลงพระปรมาภิไธยในธรรมนูญการปกครองประเทศ โดยทรงเพิ่มคำว่า "ชั่วคราว" ต่อท้ายธรรมนูญการปกครองฯ ที่ร่างโดย นายปรีดี พนมยงค์

10 ธันวาคม สภาผู้แทนราษฎรจึงผ่านผ่านการเห็นชอบรัฐธรรมนูญฉบับถาวรและได้รับพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 7 หลังจากมีการทบทวนความสำคัญบางประเด็นตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า จากนั้นจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งผู้บริหารประเทศชุดใหม่ในนามใหม่ คือเป็น "นายกรัฐมนตรี" และ "รัฐมนตรี" แทนที่ชื่อตำแหน่งว่า "ประธานคณะกรรมการราษฎร" และ "กรรมการราษฎร" คณะบริหารชุดใหม่มี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรี และมีรัฐมนตรีประจำกระทรวง 7 กระทรวง และรัฐมนตรีลอยอีก 13 คน

11 ตุลาคม 2476 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม เป็นหัวหน้าฝ่ายทหารนำกำลังทหารจากหัวเมืองภาคอีสาน ล้มล้างการปกครองของรัฐบาล แต่กระทำการไม่สำเร็จ จึงเป็นที่มาของชื่อ "กบฏบวรเดช" 23 ตุลาคม นายทหารคนสำคัญฝ่ายกบฏ คือ นายพันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) ถูกยิงเสียชีวิตโดยทหารจากกองพันทหารราบที่ 6 นำโดย พันตรีหลวงวีรวัฒน์โยธา 25 ตุลาคม พระองค์เจ้าบวรเดชหัวหน้าคณะกบฏและพระชายา ทรงขึ้นเครื่องบินหนีไปยังประเทศกัมพูชา

7 พฤศจิกายน สภาผู้แทนราษฎร ผ่านกฎหมาย พระราชบัญญัติป้องกันรักษารัฐธรรมนูญ อันเป็นเครื่องมือที่จะตอบโต้ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล (หรือนัยหนึ่งคือฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์กับคณะราษฎร)

2 มีนาคม 2477 (2478) พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสละราชสมบัติ ขณะประทับรักษาพระเนตรอยู่ในประเทศอังกฤษ

14 ตุลาคม 2479 เปิด "อนุสาวรีย์ปราบกบฏ" หรือ "อนุสาวรีย์พิทักษ์ธรรมนูญ" ที่บางเขน ซึ่งปัจจุบันหลงเหลือคำที่ใช้เรียกขานเพียงว่า "อนุสาวรีย์หลักสี่" จนความหมายของวีรกรรมหาญกล้าของคณะบุคคลที่ทุ่มอุทิศชีวิตเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตย ถูกลอดทอนความสำคัญลงไปทุกทีจนเกือบกลายเป็นตำนานที่ไร้ที่มาที่ไปยิ่งขึ้นทุกที

18 กรกฎาคม 2481 รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนาออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี กำหนดให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็น "วันชาติ"

24 มิถุนายน 2482 เริ่มเฉลิมฉลองวันชาติ 24 มิถุนายน เป็นครั้งแรก ในสมัยรัฐบาล จอมพล ป. พิบูลสงคราม พร้อมกับการเริ่มก่อสร้าง "อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย" ซึ่งออกแบบโดย หม่อมหลวงปุ่ม มาลากุล ควบคุมการก่อสร้างจนแล้วเสร็จโดย ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ศิลปินผู้ปั้นอนุสาวรีย์คือ นายสิทธิเดช แสงหิรัญ และจัดพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ. 2483

เวลา 8 ปีหรือครึ่งทางของคณะราษฎร ได้รัฐธรรมนูญที่ยังไม่สมบูรณ์เท่าใดนัก ได้ "วันชาติ" มาเป็นสมบัติของ "ราษฎร" และได้อนุสาวรีย์เป็นสัญลักษณ์ในการสร้างชาติไทยใหม่


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 19 - 25 มิถุนายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย" กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520 ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น. จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนต...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่าย กระทิงแดง ยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบ...