ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (2)

ปฐมบทประชาธิปไตยสยาม
พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

หลังจากสมาชิกระดับนำของคณะราษฎรทยอยกันเดินทางกลับเข้าสู่พระราชอาณาจักรจนครบ ในช่วงต้นปี 2475 มีการประชุมเตรียมการเข้ายึดอำนาจการปกครองหลายครั้ง แล้วโอกาสเหมาะในการลงมือก็มาถึง เมื่อ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวมีหมายกำหนดการเสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐานยังสวนไกลกังวลในวันที่ 8 มิถุนายน

ในการแปรพระราชฐานยังสวนไกลกังวลอันเป็นการเสด็จพระราชดำเนินครั้งสุดท้ายของพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์นั้น มีพระบรมวงศ์เธอและข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ ตามเสด็จไปเป็นอันมาก อาทิ

1. สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระสวัสดิ์วัตนวิศิษฐ์ (พระราชบิดาในสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี และพระอัยกาของ หม่อมราชวงศ์ถนัดศรี)
2. นายพลเรือเอก กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร เสนาบดีกระทรวงกลาโหม
3. นายพลโท พระองค์เจ้าอลงกฏ รองเสนาบดีกระทรวงกลาโหม
4. นายพลตรี หม่อมเจ้าฉัตรมงคล จเรทหารบก
5. นายพลตรี พระยาอานุภาพไตรภพ (จำรัส เทพหัสดิน ณ อยุธยา) ผบ. พล.3 นครราชสีมา
6. นายพลโท พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร สมุหราชองครักษ์
7. นายพันโท พระเริงรุกปัจจามิตร ราชองครักษ์
8. นายพันตรี หลวงสรสิทธยานุการ (สิทธิ์ แสงชูโต) ผบ. กองพันทหารราบเพชรบุรี

นอกจากนั้น แม่ทัพนายกองคนสำคัญ ที่ประกอบด้วย นายพลโท พระองค์เจ้าอลงกฏ สุขสวัสดิ์, นายพลตรี พระยาพิชัยสงคราม (แก๊ป สรโยธิน) แม่ทัพกองทัพที่ 1, นายพันตรี หลวงพิชิตชนะภัย (เจือ ชนะภัย) และ นายร้อยเอก หลวงโหมรอนราญ (ตุ๊ ปาลกะวงศ์ ณ อยุธยา) ก็อยู่ในระหว่างเดินทางสำรวจภาคใต้เพื่อเตรียมการตั้งกองทหารประจำภาคใต้ (นับแต่ชุมพร) เป็นการถาวร ซึ่งสำเร็จลงในปี 2481

หลังจากที่การขยับเลื่อนวันก่อการอยู่หลายครั้ง ทั้งนี้มีการล้มเลิกแผนการที่จะเข้ายึดอำนาจในวันที่ 16 มิถุนายน อันเป็นวันพระราชพิธีถือน้ำพิพัฒน์สัตยา แต่มีมติส่วนใหญ่เห็นว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากกำลังทหารของฝ่ายรัฐบาลสามารถรวมพลกันติด และอำนาจบังคับบัญชายังอยู่ในความควบคุมของฝ่ายเจ้านายและขุนนางใกล้ชิด

ในที่สุดการวางแผนขั้นสุดท้ายของคณะราษฎรซึ่งกระทำที่บ้าน ร้อยโท ประยูร ภมรมนตรี ในวันที่ 12 มิถุนายน 2475 จึงได้ข้อสรุปว่าจะดำเนินการในเช้าวันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน 2475 โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการเข้าควบคุมสมเด็จเจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต ซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการรักษาพระนคร

ประมาณ 5 นาฬิกานายทหารฝ่ายคุมกำลังที่เป็นสมาชิกคณะราษฎร บัญชาให้เคลื่อนกำลังทหารบกและทหารเรือมาประมาณ 2,000 นาย มารวมตัวกันบริเวณรอบพระที่นั่งอนันตสมาคมตั้งแต่เวลาประมาณ 5 นาฬิกา โดยอ้างว่าเป็นการสวนสนาม จากนั้น นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา ได้อ่านประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ณ บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เท่ากับเป็นการประกาศยึดอำนาจการปกครอง ปัจจุบันตำแหน่งที่พระยาพหลพลพยุหเสนาอ่านประกาศคณะราษฎร มีหมุดทองเหลืองฝังอยู่ เรียกกันว่า หมุดคณะราษฎร มีข้อความว่า "ณ ที่นี้ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๗๕ เวลาย่ำรุ่ง คณะราษฎรได้ก่อกำเนิดรัฐธรรมนูญเพื่อความเจริญของชาติ"

ต่อมาเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2481 รัฐบาลพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา ออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ให้วันที่ 24 มิถุนายน เป็น "วันชาติ"

หลังจากคณะผู้ก่อการควบคุมสถานการณ์ในพระนครได้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว คณะราษฎรมีคำสั่งให้ นายนาวาตรี หลวงศุภชลาศัย (บุง ศุภชลาศัย) นำเรือรบหลวงสุโขทัยออกจากบางนา เดินทางไปพระราชวังไกลกังวล หัวหิน โดยด่วน เพื่ออัญเชิญพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จนิวัติคืนสู่พระนคร พร้อมกับมีหนังสือทูลเชิญดังมีใจความต่อไปนี้

**********

พระที่นั่งอนันตสมาคม
วันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ.2475
กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
วังไกลกังวล หัวหิน
ขอเดชะใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทปกเกล้าปกกระหม่อม

ด้วยคณะราษฎร ข้าราชการ ทหาร พลเรือน ได้ยึดอำนาจการปกครองแผ่นดินไว้ได้แล้ว และได้เชิญเสด็จพระบรมวงศานุวงศ์ มี สมเด็จพระเจ้าพี่ยาเธอเจ้าฟ้ากรมพระนครวรรค์วรพินิต เป็นต้น ไว้เป็นประกัน ถ้าหากคณะราษฎรนี้ถูกทำลายด้วยการใดก็ดี จะต้องทำร้ายเจ้านายที่จับกุมไว้เป็นการตอบแทน

คณะราษฎรไม่ประสงค์จะแย่งชิงราชสมบัติแต่อย่างใด ความประสงค์อันใหญ่ยิ่งก็เพื่อจะให้มีธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน จึงขอเชิญใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทเสด็จกลับคืนสู่พระนคร และทรงเป็นกษัตริย์ต่อไป โดยอยู่ใต้รัฐธรรมนูญการปกครองแผ่นดินซึ่งคณะราษฎรได้สร้างขึ้น ถ้าใต้ฝาละอองธุลีพระบาทตอบปฏิเสธก็ดี หรือไม่ตอบภายในหนึ่งชั่วโมงนับแต่ได้รับหนังสือนี้ก็ดี คณะราษฎรจะได้ประกาศใช้ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินโดยเลือกเจ้านายพระองค์อื่น ที่เห็นสมควรขึ้นเป็นกษัตริย์

ควรมิควรแล้วแต่จะทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม
พ.อ.พระยาพหลพลพยุหเสนา
พ.อ.พระยาทรงสุรเดช
พ.อ.พระยาฤทธิอัคเนย์


**********

โดยก่อนที่ถือหนังสือไปเข้าเฝ้าพระปกเกล้าฯ หลวงศุภชลาศัยได้ประชุมนายทหาร แล้วสั่งการว่า "ณ เบื้องหน้าที่ชายหาดหน้าพระราชวังนั้น ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าว่าจะมีเหตุการณ์อันใดเกิดขึ้นแก่ข้าพเจ้าและทีมที่ไป ดังนั้นในทันทีที่ข้าพเจ้าหากเป็นอันตรายด้วยการถูกยิง ถูกจับ หรือถูกอะไรก็ตาม อันมิใช่เป็นการปรากฏการณ์ของผู้ที่จะนำสาส์นของผู้รักษาพระนครฝ่ายทหารและการอัญเชิญเสด็จนิวัติแล้ว ข้าพเจ้าจะโยนหมวกขึ้นสู่เบื้องบนเป็นสัญญาณ ดังนั้นต้นปืนจะต้องส่องกล้องจับตาดูข้าพเจ้าตลอดเวลา หากได้เห็นหมวกของข้าพเจ้าถูกโยนขึ้นเบื้องสูงเหนือศีรษะแล้ว ให้ต้นปืนสั่งการแก่ปืนใหญ่ทุกกระบอกในเรือให้หันเข้าซัลโวพระราชวังไกลกังวลทันที"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 6-12 พฤศจิกายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย" กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520 ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น. จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนต...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่าย กระทิงแดง ยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบ...