ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (11)

ความขัดแย้งหลังปราบกบฏ
พระปกเกล้าฯสละราชสมบัติ

ท่ามกลางความเห็นที่ไม่ต้องตรงกันระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ กับรัฐบาลสยามในเวลานั้น พระองค์ได้พระราชทานพระราชบันทึกมายังรัฐบาลรวม 2 ฉบับ
เมื่อเดือน กันยายน 2477 คือ

พระราชบันทึกฉบับที่ 1 ทรงขอร้องมา 3 ประการคือ (1) ให้งดเว้นว่ากล่าวคดีกบฏสำหรับหม่อมเจ้าศุภสวัสดิ์ และนายทหารรักษาวัง (2) งดการเลิกทหารรักษาวัง (3) ให้งดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างกระทรวงวังใหม่

พระราชบันทึกฉบับที่ 2 ทรงขอร้องมารวมทั้งสิ้น 4 ประการด้วยกันคือ (1) ให้ยอมตามข้อขอร้องทั้ง 3 ข้อ ในพระราชบันทึกฉบับที่ 1 (2) ให้บุคคลต่างๆในรัฐบาล เลิกกล่าวร้ายทับถมการงานของพระราชวงศ์จักรีอย่างเข้มงวด (3) แสดงความเคารพนับถือในองค์พระมหากษัตริย์โดยชัดเจน (4) พยายามระงับความไม่สงบต่างๆ โดยตัดไฟคือ ก. ไม่ดำเนินโครงการเศรษฐกิจแบบโซชะลิสต์หรือสังคมนิยมอย่างแรง ข. ลดหย่อนผ่อนโทษ นักโทษการเมือง

ทว่าหลังจากการโต้ตอบกันไปมาทาง หนังสือหรือโทรเลขดำเนินไประยะหนึ่ง โดยทางรัฐบาลพันเอกพระยาพหลฯ เห็นว่าไม่สามารถทำความเข้าใจระหว่างกันให้แจ่มแจ้งชัดเจนได้ จึงส่งผู้แทนเดินทางในเดือนพฤศจิกายน 2477 ไปเข้าเฝ้าฯ เพื่อทำความตกลงในเหตุที่ข้องพระราชหฤทัย ณ ประเทศอังกฤษ ผู้แทนทั้ง 3 นายประกอบด้วย เจ้าพระยาศรีธรรมธิเบศ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นาวาตรี หลวงธำรงค์นาวาสวัสดิ์ ร.น. รัฐมนตรี และนายดิเรก ชัยนาม ซึ่งทำหน้าที่เลขานุการ

จากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จึงทรงพระราชทานพระราชบันทึกมายังรัฐบาลเป็นฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2477 มีใจความสำคัญรวม 9 ข้อดังนี้

1.การเลือกตั้งสมาชิกประเภทที่ 2 ต้องให้พระมหากษัตริย์เป็นผู้ทรงเลือกอย่างแท้จริง ไม่ใช่รัฐบาลหรือคณะปฏิวัติเป็นผู้เลือก
2.ให้ แก้รัฐธรรมนูญมาตรา 39 ซึ่งเดิมกำหนดไว้ว่าเมื่อพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบในร่างพระราชบัญญัติแล้ว หากสภายืนยันตามมติเดิมก็ให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้ ให้แก้เป็นต้องได้รับคะแนนเสียง 3 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด จึงจะใช้ได้
3.ให้รัฐบาลปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 14 คือให้ประชาชนมีเสรีภาพในการเขียน การพูด การโฆษณา ฯลฯ อย่างแท้จริง
4.ให้เลิกพระราชบัญญัติป้องกันรัฐธรรมนูญ เพราะขัดกับหลักเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตยมาก
5.ให้อภัยโทษและลดหย่อนผ่อนโทษแก่นักโทษการเมือง
6.ให้ข้าราชการที่ถูกปลด ฐานมัวหมองต้องสงสัยในคดีการเมือง ได้รับเงินบำนาญ
7.ให้งดการจับกุมฟ้องร้องข้าราชการที่ต้องสงสัยเกี่ยวกับคดีการเมือง ทั้งที่กำลังฟ้อง หรือดำริจะฟ้องต่อไปเสีย
8.ขอให้รัฐบาลและสภาให้คำรับรองว่าจะไม่ตัดกำลัง และตัดงบประมาณของทหารรักษาวังให้น้อยลงไปกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้ และขอให้จ่ายอาวุธและกระสุนให้แก่กรมทหารรักษาวังเท่ากับทหารราบหน่วยอื่นๆ
9.ขอให้จัดการออกพระราชบัญญัติวางระเบียบการทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาในเรื่องการขอพระราชทานอภัยโทษ


คำตอบของรัฐบาลที่สนองพระราชบันทึกไป ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัย ทั้งนี้เป็นด้วยสาเหตุแห่งความแตกร้าวหลังการอภิวัฒน์สยามมีอยู่มากมายเกินกว่าที่จะตกลงกันด้วยดีได้ ตลอดเวลาแห่งการเจรจากันเต็มไปด้วยปัญหายุ่งยากนานัปการ ที่ทั้งสองฝ่ายไม่อาจจะประนีประนอมกันได้ ในที่สุดพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติและได้ทรงมีพระราชหัตถเลขาพระราชทานมายังรัฐบาล เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 (ซึ่งหากนับอย่างสากล ควรเป็นพุทธศักราช 2478 แต่นับอย่างเก่า ซึ่งถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันเปลี่ยนศักราช ในเวลานั้นยังถือว่าเป็นพุทธศักราช 2477) ดังมีความในตอนท้าย ดังนี้

"ข้าพเจ้ามีความเต็มใจ ที่จะสละอำนาจ อันเปนของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิม ให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้า ให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร

บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่า ความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิออกเสียงในนโยบายของประเทศไทยโดยแท้จริง ไม่เปนผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่า บัดนี้ เปนอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือ หรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติ และออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เปนต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเปนของข้าพเจ้าอยู่ในฐานะที่เปนพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนไว้ซึ่งสิทธิทั้งปวงอันเปนของข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์

ข้าพเจ้าไม่มีประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใดให้เปนผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิจะทำได้ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์ อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใดก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศเพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้า ถ้าหากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่ามิได้เปนไปโดยความยินยอมเห็นชอบหรือความสนับสนุนของข้าพเจ้า

ข้าพเจ้ามีความเสียใจเปนอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ ตามความตั้งใจและความหวังซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐานขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญ และขอประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขสบาย.


ประชาธิปก.ปร.
วันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477
เวลา 13 นาฬิกา 45 นาที"

จากนั้น พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมกับสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี และพระประยูรญาติสนิทบางพระองค์ จึงทรงย้ายที่ประทับจากใจกลางเมืองไปอยู่ในชนบทใกล้กรุงลอนดอน จนถึงวันที่ 30 พฤษภาคม 2484 ขณะที่ทั้งสองพระองค์ประทับอยู่ที่พระตำหนักคอมพ์ตัน ตำบลเวอร์จิเนียวอเตอร์ ประเทศอังกฤษ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เสด็จสวรรคตโดยฉับพลันด้วยพระหทัยวาย ทรงมีพระชนมพรรษา 48 พรรษา

สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีทรงจัดการเรื่องพระบรมศพและถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ เป็นการภายในในวันที่ 3 มิถุนายนปีนั้น โดยไม่มีพระเมรุมาศ ไม่มีเสียงประโคมย่ำยาม และไม่มีแม้แต่พระสงฆ์สวดพระอภิธรรม.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 9-15 ตุลาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย" กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520 ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น. จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนต...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่าย กระทิงแดง ยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบ...