ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (10)

พระปกเกล้าฯเสด็จนิราศราชอาณาจักร
กับงานศพสามัญชน ณ ท้องสนามหลวง

สถานการณ์ระหว่าง 2 ฝ่ายภายหลังการสู้รบในกบฏบวรเดชยังคงความคุกรุ่นแม้ฝ่ายกบฏจะวางอาวุธยอมจำนน มีการถูกจับกุมคุมขังในฐานะกบฏหรือนักโทษการเมืองจำนวนมาก ความสัมพันธ์ระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าฯ ในฐานะองค์พระประมุขแห่งรัฐในการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญกับรัฐบาลคณะราษฎร เพิ่มทวีความเห็นที่ไม่ลงรอยและความไว้วางใจระหว่างกันมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ปมเหตุสำคัญคือ แม้ว่าพระบทสมเด็จพระปกเกล้าฯ จะทรงพยายามแสดงออกว่าวางพระองค์เป็นกลางในเหตุการณ์กบฏ แต่สถานการณ์โดยรวมช่วงรอยต่อของการลุกขึ้นก่อกบฏโดยกำลังทหารจากหัวเมือง ไม่ว่าจะเป็นข้อเสนอของฝ่ายกบฏที่อ้างอิงเกี่ยวกับพระราชอำนาจของกษัตริย์ ตลอดจนรายพระนามและรายชื่อผู้มีส่วนเข้าร่วมกับกบฏ ล้วนมีข้อบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ในการมองเชื่อมโยงพระองค์เข้ากับฝ่ายกบฏ จนรัฐบาลและสมาชิกฝ่ายนำในคณะราษฎรเห็นพ้องกันว่ากบฏครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากพระปกเกล้าฯ ยิ่งการที่พระองค์ปฏิเสธที่จะเสด็จกลับพระนครในขณะที่เกิดการสู้รบกับฝ่ายกบฏอยู่นั้น ยิ่งทำให้รัฐบาลคณะราษฎรเกิดความคลางแคลงในพระองค์และเจ้านายหลายพระองค์มากยิ่งขึ้น

ยิ่งไปกว่านั้นมีเจ้านายหลายพระองค์ถูกสงสัยว่าร่วมคบคิด กับกบฏ หลายพระองค์ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ โดยเฉพาะที่ใกล้ชิดกับพระองค์เจ้าบวรเดช ซึ่งอยู่ในสถานะ "หัวหน้ากบฏ"

ดังนั้นหลังจากพระปกเกล้าฯ เสด็จนิวัติพระนคร และทรงประทับอยู่ที่กรุงเทพฯ ได้เพียง 34 วัน ก็มีพระราชประสงค์จะเสด็จสหรัฐอเมริกาอีก โดยทรงให้เหตุผลว่าเพื่อทำการผ่าพระเนตร

วันกำหนดจะเสด็จออก จากกรุงเทพฯ คือวันที่ 12 มกราคม 2477 (นับแบบเก่าเป็น 2476 เนื่องจากยังเปลี่ยนปีแบบจันทรคติ คือนับวันสงกรานต์เป็นวันเปลี่ยนศักราช) ทั้งนี้ ได้ทรงแต่งตั้งพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนริศรานุวัดติวงศ์ให้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์

ในคืนวันที่ 11 มกราคม 2477 (2476) ก่อนจะเสด็จนิราศประเทศสยาม พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปราศรัยกับประชาชนทางวิทยุกระจายเสียง ดังต่อไปนี้

**********

ประชาชนพลเมืองทั้งหลาย

ในวันที่ 12 เดือนนี้ ข้าพเจ้าพร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชินี จะได้เดินทางออกไปต่างประเทศ ทั้งนี้เป็นเพราะความจำเป็น เพื่อรักษาร่างกายของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าจะถือโอกาสเจริญทางพระราชไมตรีกับนานาประเทศให้สนิทสนมยิ่งขึ้น ข้าพเจ้าทราบตระหนักในความลำบากทางการบ้านเมืองซึ่งมีอยู่ในเวลานี้ แต่ข้าพเจ้ามีความไว้วางใจในคณะรัฐบาล ซึ่งมีนายพันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนาเป็นนายกรัฐมนตรีอยู่นี้อย่างเต็มที่ และสภาผู้แทนราษฎรทั้งหลายก็ได้แสดงความไว้วางใจเช่นเดียวกัน แม้การกบฏครั้งที่แล้วมา รัฐบาลและกองทัพของข้าพเจ้าก็ได้ปราบปรามราบคาบแล้ว ข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่าประเทศชาติของเราได้รักษาความสงบ และประสานสามัคคีกันเป็นอย่างดี

บัดนี้ ก็มีสภาผู้แทนราษฎรกอปรด้วยสมาชิกทั้งสองประเภทครบถ้วนตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญบริบูรณ์แล้ว และตามการเป็นไปในสภาเท่าที่ได้เป็นมาแล้ว ก็ส่อให้เห็นว่ากิจการในสภาคงดำเนินลุล่วงไปโดยเรียบร้อย ดังนี้จึงเป็นที่คาดหมายได้ว่า สภาผู้แทนราษฎรจะได้เป็นกำลังอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งได้ช่วยเหลือรัฐบาลในการบำรุงประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าต่อไป

อันการปกครองแบบรัฐธรรมนูญนี้ ข้าพเจ้าได้มีความเลื่อมใสอย่างจริงใจตั้งแต่ต้นมา และเมื่อได้มีรัฐธรรมนูญแล้ว ข้าพเจ้าก็ได้สนใจในอันจะให้กิจการดำเนินไปตามระบอบรัฐธรรมนูญทุกประการ ข้าพเจ้าได้แสดงความประสงค์ของข้าพเจ้าหลายครั้งหลายหนแล้วว่า จะใคร่ให้การเมืองเป็นไปตามวิถีทางรัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าจึงขอแสดงความประสงค์เช่นนั้นอีกครั้งหนึ่ง เฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างที่ข้าพเจ้าไม่อยู่พระนครนี้ ข้าพเจ้าขอให้ประชาชนพลเมืองทั้งหลาย จงรักษาความสงบและความสามัคคีไว้ให้คงมั่นคง

ในยามยากจนเนื่องด้วยโภคกิจตกต่ำนี้ ก็เป็นธรรมดาอยู่นั่นเองที่ชนทุกเหล่าทุกคณะจะขวนขวายหาทางบรรเทาทุกข์ของตน แต่ในการกระทำครั้งนี้ ขอท่านทั้งหลายอย่าได้ลืมคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม กล่าวคือ สันติสุขของบ้านเมืองของเรา เราอาศัยความอบรมทางศาสนา มีพระพุทธศาสนาเป็นอาทิ จึงมีอุปนิสัยรักความสงบเป็นที่ตั้ง เพราะฉะนั้นในระหว่างที่ข้าพเจ้าต้องจากประเทศสยาม อันที่รักของเราไปชั่วคราวนี้ ขออำนาจคุณพระศรีรัตนตรัยและบรรดาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสากลโลก ได้คุ้มครองรักษาให้ประชาชนชาวสยามได้รับสันติสุขทุกประการเทอญ

**********

ในระหว่างที่เสด็จประทับอยู่นอกพระราชอาณาจักรนี้เอง ก็บังเกิดมีเรื่องอันทำให้ไม่เป็นที่พอพระราชหฤทัยขึ้นมาหลายคราว เกี่ยวกับการปฏิบัติบางประการของรัฐบาล อาทิ รัฐบาลได้นำร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมวิธีพิจารณาความอาญา และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาทหาร รวม 3 ฉบับ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบแล้ว ส่งไปทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ประกาศใช้เป็นกฎหมาย แต่พระองค์ได้พระราชทานคืนมายังสภา สภายืนยันตามมติเดิม รัฐบาลจึงนำร่างพระราชบัญญัติทั้งสามส่งไปทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อให้ทรงลงพระปรมาภิไธยอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานมา และพระราชบัญญัติเหล่านี้ก็ได้ประกาศออกใช้ตามมติของสภา ทำให้ทรงไม่พอพระราชหฤทัยและทรงปรารถนาที่จะสละราชสมบัติ โดยทรงแจ้งให้สมเด็จกรมพระนริศฯ ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์แจ้งพระราชประสงค์ต่อนายกรัฐมนตรี ตามมาด้วยการโต้ตอบทางหนังสือระหว่างพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวกับรัฐบาลหลายฉบับ

ปมปัญหาสำคัญอีกประเด็นหนึ่ง จากการปราบกบฏบวรเดชทำให้ทหารทั้งสองฝ่ายเสียชีวิตลงมากมาย โดยฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิตทั้งสิ้น 17 นาย รัฐบาลวางแผนที่จะจัดการปลงศพทหารอย่างยิ่งใหญ่กลางท้องสนามหลวงในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2477 (2476) ซึ่งกลายเป็นเรื่องใหญ่ที่กลายเป็นความขัดแย้งกันอีกครั้ง เนื่องจากท้องสนามหลวง หรือ "ทุ่งพระเมรุ" เป็นพื้นที่ใช้ปลูกสร้างพระเมรุมาศในงานพระบรมศพของกษัตริย์และเจ้านายระดับสูงเท่านั้น

แต่แล้วผลที่สุดจากการโต้ตอบทางจดหมาย แม้พระปกเกล้าฯ ทรงพยายามเสนอพื้นที่อื่นให้กับรัฐบาล แต่สุดท้ายพระองค์ก็ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาตตามความต้องการของรัฐบาลคณะ ราษฎร ด้วยภาวะจำยอม.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 2-8 ตุลาคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย" กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520 ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น. จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนต...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่าย กระทิงแดง ยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบ...