กบฏวังหลวง 2492:
รบกันใจกลางพระนคร
ในกลางเดือนกุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดี พนมยงค์ พร้อมด้วย เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ลอบกลับเข้าประเทศหลังจากที่ลี้ภัยไปเมื่อเกิดรัฐประหาร 8 พฤศจิกายน 2490 หลังจากดำเนินการติดต่ออย่างลับๆมาก่อนหน้า เพื่อรวบรวมกำลังอันประกอบด้วยกับคณะนายทหารเรือ และอดีตเสรีไทยกลุ่มหนึ่ง ซึ่งเรียกตัวเองว่า "ขบวนการประชาธิปไตย 26 กุมภาพันธ์" จากนั้นตั้งกองบัญชาการอยู่ที่วัดบ้านเขาชลบุรี อันเป็นเขตทหารเรือ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นที่ซ่องสุมกำลังของเสรีไทย แต่ปฏิบัติการที่มีหลายฝ่ายเข้าร่วมนี้ไม่อาจปกปิดเป็นความลับจากหูตาของฝ่ายรัฐบาลได้ ทำให้สามารถเตรียมการรับมือไว้ล่วงหน้าแล้วอย่างน้อย 3 วัน ก่อนวันก่อการ
เวลาประมาณ 16.00 น. ของวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2492 นายปรีดีนำกำลังอดีตพลพรรคเสรีไทยประมาณ 60 คน รวบรวมเอาอาวุธที่สะสมไว้ต่อต้านกองทัพญี่ปุ่นเมื่อคราวสงครามมหาเอเชียบูรพา เข้ายึดมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นกองบัญชาการ
สำหรับนายทหารเรือซึ่งสนับสนุนนายปรีดี ก็มี พล.ร.ต.สังวร สุวรรณชีพ, พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ ผู้บัญชาการนาวิกโยธินสัตหีบ, พล.ร.ต.ชาลี สินธุโสภณ ผู้บัญชาการกองสัญญาณทหารเรือ ซึ่งจะนำทหารเรือบางส่วนจากสัตหีบเข้ากรุงเทพฯ นอกจากนี้กลุ่มเสรีไทยตามภาคต่างๆเข้าสมทบกับกองกำลังฝ่ายก่อการอีกด้วย
เวลาประมาณ 20 นาฬิกา เรือเอกวัชรชัย ชัยสิทธิเวช ยกกองกำลังอดีตพลพรรคเสรีไทยติดอาวุธออกจากธรรมศาสตร์ไปยังพระบรมมหาราชวัง จู่โจมควบคุมตัว ร.ท.พร เลิศล้ำ นายทหารรักษาพระบรมมหาราชวัง พร้อมกับปลดอาวุธทหารรักษาการ นอกจากนั้นยังจัดกำลังไปตั้งมั่นที่กองสัญญาณทหารเรือ ตำบลศาลาแดง เตรียมสนับสนุนอีกด้วย อีกหน่วยหนึ่งไปตรึงกำลัง ร.พัน 1 ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ตรงข้ามวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิท่าเตียน)
เวลา 21.00 น. กลุ่มเสรีไทยในชุดเครื่องแบบทหารสื่อสารตรงไปยึดสถานีวิทยุพญาไทบังคับเจ้าหน้าที่กระจายข่าวออกแถลงการณ์ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ (ข้ออ้างฝ่ายก่อการ) ให้ปลด จอมพล ป. พิบูลสงคราม ออกจากนายกรัฐมนตรีและปลดคณะรัฐมนตรีทุกคน แต่งตั้งนายดิเรก ชัยนาม เป็นนายกรัฐมนตรี ให้ นายทวี บุณยเกตุ เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย ให้ปลัดกระทรวงแต่ละกระทรวงรักษาการในตำแหน่งรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว
ฝ่ายก่อการยังได้แต่งตั้งให้ พล.ร.ต.ทหาร ขำหิรัญ เป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม, พล.ร.ท.หลวงสินธุสงครามชัย ผบ.ทร. เป็นผู้บัญชาการทหารเรือ และแม่ทัพใหญ่, พล.ร.ต.สมบูรณ์ ศรานุชิต เป็นรองแม่ทัพใหญ่, พล.ต.เนตร เขมะโยธิน เป็นผู้บัญชาการทหารบก นอกจากนี้ยังปลด พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ ผบ.ทบ., พล.ท.กาจ กาจสงคราม รองผบ.ทบ., พ.ต.ท.ละม้าย อุทยานานนท์ ผู้บังคับการสันติบาล ให้ พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน ให้ พล.ร.ท.สังวร สุวรรณชีพ เป็นผู้รักษาความสงบทั่วประเทศ และเป็นอธิบดีกรมตำรวจ และปลด พล.ต.ท.หลวงชาติตระการโกศล อธิบดีกรมตำรวจ, พล.ต.ต.เผ่า ศรียานนท์ รองอธิบดีกรมตำรวจ ออกจากตำแหน่ง ย้าย หลวงอุตรดิตถาพิบาล ข้าหลวงประจำจังหวัดชลบุรี มาประจำอยู่กระทรวง ให้ น.ท.ประดิษฐ์ พูลเกษม ผู้บังคับกรมนาวิกโยธิน เป็นข้าหลวงฯแทน ฝ่ายกบฏ ยังได้ประกาศห้ามมีการเคลื่อนไหวและ/หรือเคลื่อนย้ายกำลังทหารทุกหน่วยจาก ที่ตั้งเด็ดขาด นอกจากจะได้รับคำสั่งจากแม่ทัพใหญ่ พล.ร.ท. หลวงสินธุสงครามชัย
ช่วงแรก ดูเหมือนฝ่ายกบฏจะเป็นฝ่ายได้เปรียบ เพราะสามารถยึดสถานที่สำคัญและจุดยุทธศาสตร์ไว้ได้หลายจุด แต่ทว่าตกค่ำของคืนวันนั้นเอง รัฐบาลก็ตั้งตัวติด พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (ยศในขณะนั้น) ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการปราบปรามการกบฏ และเริ่มยึดจุดยุทธศาสตร์กลับคืนมาได้เป็นลำดับ
ในเวลา 22.00 น. ทหารฝ่ายรัฐบาลสังกัด ร.พัน 1 มหาดเล็ก เข้ายึดและสนับสนุนกองทหาร ร.พัน 1 ขณะที่ ร.พัน 2 เข้ายึดพื้นที่กรุงเทพฯ และตามแนวรถไฟสายอรัญประเทศ ก่อนจะมีคำสั่งให้ย้ายหน่วยนี้กลับ เพราะไม่มีแนวต้านทานของฝ่ายกบฏ จากนั้นใช้กำลังจากกรมทหารราบที่ 1 จำนวน 3 กองพัน เข้าตั้งด่านสกัดที่สะพานเฉลิมโลกและถนนเพชรบุรี
ลางพ่ายแพ้ประการหนึ่งของฝ่ายก่อการ คือกองกำลังทหารเรือจากฐานทัพเรือสัตหีบมาติดแหง็กอยู่ที่ท่าน้ำบางปะกง เนื่องจากน้ำลดขอดเกินกว่าปกติ แพขนานยนต์ไม่สามารถที่จะลำเลียงอาวุธและกำลังคนข้ามฟากได้ เมื่อน้ำขึ้นก็เป็นเวลาล่วงเข้ากลางคืน กว่ากองกำลังทั้งหมดจะมาถึงพระนครก็เกือบเที่ยงคืน ถึงตอนนั้นฝ่ายกบฏก็เพลี่ยงพล้ำต่อรัฐบาลแล้ว
เวลาประมาณ 23.00 น. ฝ่ายกบฏที่ตั้งอยู่ที่ท่าวาสุกรีได้ยิง ค.85 ไปยังวังสวนกุหลาบ ซึ่งเป็นที่บัญชาการทหารรัฐบาล ชุดแรก 4 นัดไม่ถูกเป้าหมาย ตกลงใส่บ้านเรือนราษฎรในละแวกนั้น ขณะเดียวกันที่สี่แยกราชประสงค์มีทหารเรือตั้งแนวรับฝ่ายทหารบกไว้ และพยายามจะตีฝ่าไปทางท่าช้าง มีการปะทะกันชั่วครู่แล้วยันกันอยู่อย่างนั้น ทางด้านท้องสนามหลวง ฝ่ายก่อการได้เปิดฉากยิงเข้าไปใน ร.พัน 1 ทหารรัฐบาลเสียชีวิตและบาดเจ็บไปจำนวนหนึ่ง เกิดการยิงโต้ตอบอยู่ประมาณชั่วโมงเศษ ฝ่ายรัฐบาลพยายามเจรจาให้ฝ่ายก่อการวางอาวุธและถอนกำลังจากพระบรมมหาราชวัง แต่การเจรจาล้มเหลว
พล.ต.สฤษดิ์ตัดสินใจใช้กำลังเข้าบุก โดยมีคำสั่งให้ พ.ท.กฤช ปุณณกันต์ ผบ.กรมรบ และ พ.ท.ถนอม กิตติขจร ผบ.ราบ 11 เตรียมนำรถถังการ์เด้นลอยด์ หรือที่เรียกกันว่า "อ้ายแอ้ด" บุกเข้าทางประตูวิเศษไชยศรี ส่วนทางทหารรัฐบาลสังกัด ร.พัน 1 สวนเจ้าเชต เคลื่อนเข้ายึดวังสราญรมย์ และล้อมพระบรมมหาราชวังไว้อีกทางหนึ่ง เตรียมบุกเข้าไปประตูสวัสดิโสภา ครั้นรุ่งเช้า ทหารรัฐบาลบุกเข้าทุกทางตามแผน จุดปะทะที่หนักที่สุดเป็นด้านประตูวิเศษไชยศรี รถถังเคลื่อนตัวเข้าไปหลายคัน โดยมีทหารราบประกบตามไปด้วย ฝ่ายกบฏต้านด้วยบาซูก้า รถถังคันหนึ่งถูกยิงเข้าอย่างจังไม่สามารถเคลื่อนที่ต่อไปได้ ทำให้ทหารราบถึงกับชะงัก พ.ท.ถนอม กิตติขจร ต้องสั่งการให้รถถังวิคเกอร์อาร์มสตรองวิ่งเข้าชนบานประตูจนเปิดออก ปืนกลรถถังไล่ยิงกราด ทหารราบขยายปีกหาที่กำบังยิงเข้าใส่อย่างดุเดือด สุดที่พลพรรคฝ่ายก่อการจะต้านไว้ได้ เรือเอกวัชรชัยตัดสินใจดึงนายปรีดีหนีออกทางประตูราชวรดิษฐ์ โดยที่ฝ่ายทหารเรือช่วยพาหนีอีกทอดหนึ่ง
จนกระทั่ง 09.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พล.ร.ต.ประวัติ ศรีพิพัฒน์ เจ้ากรมยุทธศึกษาทหารเรือ ได้เข้าพบ พล.ต.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพื่อเปิดการเจรจาหยุดยิง ทั้งสองฝ่ายตกลงยุติการสู้รบกันในเวลา 10.15 น. ก่อนจะเคลื่อนกำลังกลับเข้าสู่ที่ตั้งของตน.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 8 - 15 สิงหาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น