การไล่ล่ากวาดล้างกบฏ
และคดีสังหาร 4 อดีตรัฐมนตรี
นับแต่ กบฏบวรเดช เป็นต้นมา การปราบกบฏแทบทุกครั้งไม่มีการเสียเลือดเนื้อของทั้ง 2 ฝ่าย คือทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายผู้ก่อการแต่อย่างใด เนื่องจากฝ่ายกบฏยอมจำนนแต่โดยดี สำหรับการรบพุ่งกันในกรณีกบฏบวรเดชนั้น เกิดขึ้นที่ชานพระนครและในต่างจังหวัด เกือบจะเรียกได้ว่าราษฎรไม่รู้ไม่เห็นสภาพการทำสงครามกลางเมืองย่อยๆเข้าใส่กัน แต่กบฏวังหลวงการต่อสู้เกิดในใจกลางเมืองหลวง มีการนองเลือดกันอย่างแท้จริง ราษฎรทั่วไปในเขตพระนครโดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สู้รบต้องอกสั่นขวัญแขวนและสับสนกับเหตุการณ์นี้
เหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลจอมพล ป. มีจุดมุ่งหมายแน่วแน่ที่จะโค่นอำนาจและอิทธิพลทางความคิดการเมืองนายปรีดีด้วยการกวาดล้างอดีตพลพรรคขบวนการเสรีไทยที่ร่วมปฏิบัติการกู้ชาติซึ่งมีความเคารพศรัทธาในตัวนายปรีดี อย่างชนิดถอนรากถอนโคน เพียงแค่สงสัยใครเป็นพวกนายปรีดี บุคคลนั้นก็ชะตาขาดเสียแล้ว
หลังจากฝ่ายกบฏยอมประกาศยอมรับความพ่ายแพ้และแยกย้ายกันหลบหนีตั้งแต่เวลา 18.00 น. ของวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2492 ฝ่ายรัฐบาลยังจัดกำลังปฏิบัติการล่าสังหารอยู่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของฆาตกรรมทางการเมืองในช่วงปี 2490
เมื่อทหารของฝ่ายรัฐบาลบุกเข้ายึดกรมโฆษณาการคืนในช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ต่อมาไม่นาน พ.ต.โผน อินทรทัต ก็ถูกตำรวจจับกุมและยิงเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวไปสอบสวนที่วังปารุสกวัน โดยตำรวจรายงานว่า พบศพที่อำเภอดุสิต และนำศพส่งโรงพยาบาล แจ้งว่าเป็นชายไทยไม่ทราบชื่อ ที่ท้ายทอยและหน้าผากมีรอยถูกยิง ขณะนั้นหม่อมหลวงกันยกา [นามสกุลเดิม สุทัศน์ ธิดาของ พล.ท. พระยาวิชิตวงศ์วุฒิไกร (ม.ร.ว. สิทธิ์ สุทัศน์) อดีตแม่ทัพภาคที่ 1] ภรรยาของ พ.ต.โผน กำลังตั้งครรภ์บุตรชายคนสุดท้อง (พล.อ.ไตรรงค์ อินทรทัต หรือ เสธไอซ์) ได้ประมาณ 2 เดือนเศษ โดยไม่มีการเปิดเผยหรือให้คำอธิบายที่โปร่งใสจากทางการต่อเหตุการณ์นี้แต่อย่างใด
และถัดมาอีกวันหนึ่งในเวลาเช้าตรู่อีกเช่นกัน ขณะที่มีการเข้าตรวจค้นจับกุม พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ชีพเป็นสุข ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล ภายในบ้านพัก ก็เกิดเสียงปืนดังหลายนัด ผู้เข้าจับกุมให้การว่า พ.ต.อ.บรรจงศักดิ์ ขัดขืนและถูกยิงทอดร่างกลายเป็นศพ เหมือนหลายๆคดีที่ตำรวจมักกล่าวว่าผู้ต้องหาต่อสู้เจ้าหน้าที่พนักงาน สุดท้ายเรื่องก็เงียบหายไป
1 มีนาคม หนังสือพิมพ์ทุกฉบับได้ลงพาดหัวแถลงการณ์ของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ว่าได้มีกลุ่มบุคคลก่อการหวังจะยึดอำนาจการปกครองกลับคืนหลังจากการรัฐประหาร 2490 โดยกลุ่มบุคคลดังกล่าวได้ทำการยึดพระบรมมหาราชวังซึ่งเป็นที่ประดิษฐานของพระแก้วมรกตพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมือง อันเป็นการกระทำที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง โดยเปิดเผยชื่อหัวหน้าขบวนการคือ นายปรีดี พนมยงค์ อดีตนายกรัฐมนตรี
แต่ที่สุดของเหตุการณ์สะท้านขวัญ เมื่อเกิดกรณีสังหารโหดอดีต 4 รัฐมนตรี อดีต ส.ส. พรรคสหชีพ 3 คน คือ นายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ อดีต ส.ส.จังหวัดอุบลราชธานี อดีตรัฐมนตรี 6 สมัย, นายถวิล อุดล อดีต ส.ส.จังหวัดร้อยเอ็ด อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลนายทวี บุณยเกตุ และ นายจำลอง ดาวเรือง อดีต ส.ส.จังหวัดมหาสารคาม ถูกจับกุมตัวในเวลาไล่เลี่ยกันของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ส่วนอีกคนหนึ่งคือ ดร.ทองเปลว ชลภูมิ อดีต ส.ส.จังหวัดนครนายก และเลขาธิการพรรคแนวรัฐธรรมนูญ ถูกจับในวันที่ 1 มีนาคม ที่สนามบินดอนเมือง ร.ต.อ.ต่อศักดิ์ ยมนาค กับตำรวจสันติบาลอีกจำนวนหนึ่งได้รอรับถึงเชิงบันไดเครื่องบิน นำไปกองบัญชาการวังสวนกุหลาบ เนื่องจากตำรวจส่งโทรเลขลวงว่าการปฏิวัติสำเร็จแล้วให้รีบกลับมา เนื่องจาก ดร.ทองเปลวได้หลบหนีไปอยู่ที่สิงคโปร์หลังการรัฐประหาร 2490
ค่ำวันที่ 3 มีนาคม ตำรวจได้เคลื่อนย้ายผู้ต้องหาทั้งหมดไปไว้ที่สถานีตำรวจนครบาลบางเขน โดยอ้างเหตุความปลอดภัย ด้วยรถของตำรวจหลายเลขทะเบียน กท. 10371 โดยมี พ.ต.อ.หลวงพิชิตธุรการ เป็นผู้ควบคุม โดยรับ ดร.ทองเปลว ที่สถานีตำรวจนครบาลปทุมวัน นายจำลองที่สถานีตำรวจนครบาลยานนาวา นายถวิลที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง และนายทองอินทร์ที่สถานีตำรวจนครบาลสามเสน เมื่อวิ่งมาถึงหลักกิโลเมตรที่ 12 ถนนพหลโยธิน เวลาประมาณ 3.00 น. วันที่ 4 มีนาคม ใกล้กับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกยิงเสียชีวิตด้วยกระสุนไม่ต่ำกว่าคนละ 10 นัด ในสภาพสวมกุญแจมือ โดยได้ส่งศพไปชันสูตรที่โรงพยาบาลกลาง
ต่อมาตำรวจแถลงว่า กลุ่มโจรมลายูพร้อม อาวุธครบมือได้ดักซุ่มยิงเพื่อชิงตัวผู้ต้องหา และได้มีการปะทะกับตำรวจในที่เกิดเหตุ แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำรวจชุดควบคุมตัวทั้งหมดราว 20 นาย เช่น พล.ต.จ.ผาด ตุงคะสมิต, พล.ต.จ.ทม จิตรวิมล, ร.ต.อ.จำรัส ลิ้มละมัย, ร.ต.ท. ธนู พุกใจดี และ ส.ต.อ.แนบ นิ่มรัตน์ ไม่มีใครได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตเลย
ในระหว่างที่ถูกควบคุมตัว บรรดาญาติของผู้ต้องหาไม่ได้เฉลียวใจว่าจะเกิดเหตุร้ายขึ้น เนื่องจากก่อนหน้านั้นทั้ง 4 คนก็เดินเข้าออกเรือนจำด้วยข้อหาการเมืองเป็นประจำอยู่แล้ว หากได้รับการปล่อยตัวออกมาทุกครั้ง ทว่าการถูกจับกุมในครั้งนี้ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่อนุมัติให้ประกันตัว ซึ่งกว่าญาติของผู้ต้องหากว่าจะทราบเรื่องก็ต้องไปตามหาตามที่ต่างๆ จนท้ายที่สุดได้รับคำบอกเล่าที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล วังปารุสกวัน ให้ไปดูที่โรงพยาบาลกลาง
ศพทั้งหมดตั้งบำเพ็ญกุศลที่วัดมกุฏกษัตริยาราม ในงานสวดพระอภิธรรมมีตำรวจสายสืบและสันติบาลมาติดตามเฝ้าดูความเคลื่อนไหวของผู้ที่เข้าร่วมงานทั้งกลางวันและกลางคืน
อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์ที่มีเงื่อนงำอันนำไปสู่คำถามมากมาย ทำให้สังคมไม่เชื่อว่าพฤติกรรมโหดเห้มไร้มนุษยธรรมนี้เป็นฝีมือของโจรมลายู แต่เชื่อว่าเป็นการกระทำของตำรวจเอง ภายใต้การบัญชาการของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ รองธิบดีกรมตำรวจ ผู้มีบทบาทสำคัญคนหนึ่งในการปราบกบฏ
ถัดจากนั้นในท่ามกลางปฎิบัติการไล่ล่าชนิดเอาเป็นเอาตาย ดร.ทวี ตะเวทิกุล นักการเมืองพรรคแนวรัฐธรรมนูญ หนึ่งในผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์และ 1 ใน 4 อาจารย์ประจำรุ่นแรกของมหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง ซึ่งหลบหนีการจับกุมไปซ่อนตัวอยู่ที่จังหวัดสมุทรสงครามพร้อมๆ กับ นายประสิทธิ์ ลุลิตานนท์ เพื่อนร่วมอุดมการณ์ทั้งทางการเมืองและในฐานะนักหนังสือพิมพ์ รวมทั้งน้องชายของประสิทธิ์อีก 2 คน ในวันที่ 31 มีนาคม ขณะกำลังจะลงเรือข้ามฟาก ดร.ทวีถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจล้อมจับและถูกยิงเข้าบริเวณลำคอเสียชีวิตทันที ส่วนอีก 3 คนรอดมาได้หวุดหวิด แต่ก็ต้องสูญเสียอิสรภาพในเรือนจำเกือบ 9 ปีเต็มๆ.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 15 - 21 สิงหาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น