ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (26)

รัฐประหารตัวเอง 2494:
อำนาจที่แบ่งให้กันไม่ได้

การรัฐประหาร 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ของคณะทหารที่เรียกตนเองว่า "คณะบริหารประเทศชั่วคราว" ถือได้ว่าเป็นครั้งแรกของการ "รัฐประหารตัวเอง" หรือเป็นการ "ยึดอำนาจของตัวเอง" เพื่อจัดการกับ "หนามยอกอก" หรืออาการ "ขัดขา" ในการบริหารราชการแผ่นดิน ของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี อ้างว่าไม่ได้รับความสะดวกในการบริหารราชการแผ่นดิน อันมีสาเหตุมาจากรัฐธรรมนูญฉบับปี พ.ศ. 2492

การกลับมาของจอมพล ป.ขึ้นสู่อำนาจในฐานะนายกรัฐมนตรีครั้งที่สอง ในเดือนเมษายน 2491 มีผลทันทีในการเผชิญหน้ากันของสองขั้วอำนาจระหว่างกลุ่มอนุรักษ์นิยม กับผู้นำคณะรัฐประหารซึ่งอีกสถานะหนึ่งเป็นสมาชิกคณะราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในรัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งในการศึกษาทางรัฐศาสตร์ถือว่าเป็น "รัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม" โดยผู้ร่างส่วนใหญ่เป็นขุนนางในระบอบเก่าและนักกฎหมายอนุรักษ์-กษัตริย์นิยม คณะ กรรมการร่างรัฐธรรมนูญนี้ ประกอบด้วย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ, พระยาศรีวิสารวาจา, พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี, พระยาอรรถการียนิพนธ์, หลวงประกอบนิติสาร, หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช, นายสุวิชช์ พันธเศรษฐ, และนายเพียร ราชธรรมนิเทศ (ณัฐพล และ รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ ใน รัฐประหาร พ.ศ. 2494, ฐานข้อมูลการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า) มีเนื้อหาลดทอนอำนาจของคณะรัฐประหารอย่างชัดเจน

จุดใหญ่ใจความของรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ. 2492 ที่ถือเป็น "หนามยอกอก" ของคณะรัฐประหารนับจากปี 2490 นั้นอยู่ที่รัฐสภาอันประกอบด้วยสมาชิกของทั้ง 2 สภามีจำนวนเท่ากัน ซึ่งก็คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมาจากการเลือกตั้ง และสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งมาจากการแต่งตั้ง และแม้ว่าคณะทหารจะสามารถตั้งสมาชิกเข้าไปเป็นเสียงส่วนใหญ่ในวุฒิสภาได้ก็ตาม แต่ถึงกระนั้นความสำคัญเบื้องต้นก็อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎร ดังกรณีการเสนอร่างกฎหมายก็ต้องผ่านสภาผู้แทนก่อนแล้วจึงไปผ่านวุฒิสภา ทั้งยังยึดหลักการแยกข้าราชการประจำกับการเมืองจากกันอย่างเด็ดขาด โดยห้ามดำรงตำแหน่งพร้อมกันทั้ง 2 ฝ่าย

สำหรับทางด้านการคุมเสียงในสภาผู้แทนราษฎร บนพื้นฐานที่รัฐบาลไม่มีพรรคการเมืองเป็นของตนเอง อาศัยเพียงการรวบรวมเสียงจากพรรคการเมืองต่างๆหลากหลาย ในนาม "สหพรรค" เพื่อสนับสนุนรัฐบาล ปัญหาในการผ่านญัตติหรือพิจารณากฎหมายจึงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง ส่วนวุฒิสภาซึ่งได้รับการแต่งตั้งตังแต่สมัย นายควง อภัยวงศ์ เป็นนายกรัฐมนตรีก็ได้ใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญควบคุมการบริหารงานของรัฐบาลอย่างเต็มที่ นับแต่การยับยั้งร่างพระราชบัญญัติ การตั้งกระทู้ถามและการเปิดอภิปรายทั่วไป การอภิปรายโจมตีว่ารัฐบาลทำการปราบกบฎแมนฮัตตันรุนแรงเกินกว่าเหตุ

รัฐบาลที่มีที่มาจากการรัฐประหารเห็นว่าหากใช้รัฐธรรมนูญ 2475 จะทำให้สามารถคุมเสียงในรัฐสภาได้ง่ายกว่า เนื่องกำหนดให้มีเพียงสภาเดียว แต่มี ส.ส. 2 ประเภท ประเภท 1 มาจากการเลือกตั้ง ประเภท 2 มาจากการแต่งตั้ง การร่างกฎหมายก็ผ่านสภาครั้งเดียว แต่การจะทำดังนั้นได้ก็ต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2492 ซึ่งต้องผ่านการเห็นชอบของทั้ง 2 สภา สภาวุฒิสภาคงไม่มีปัญหามาก แต่สภาผู้แทนคงไม่ยอมแน่ คณะรัฐประหารซึ่งมี พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ ผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า จึงตัดสินใจเลือกวิธีที่ยุ่งยากน้อยกว่า โดยการการยึดอำนาจ (ตนเอง) เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2494 ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญเก่าและใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรียกว่า "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495" (ประกาศและบังคับใช้เมื่อวันที่ 8 มีนาคม 2495 และถูก "ฉีกทิ้ง" เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2501 โดยการรัฐประหารของคณะรัฐประหาร ซึ่ง จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดและผู้บัญชาการทหารบกเป็นหัวหน้า รวมอายุการประกาศและบังคับใช้ 6 ปี 7 เดือน 12 วัน) กลับไปใช้ระบบ ส.ส. ประเภท 1 และประเภท 2 เหมือนที่เคยใช้มาเมื่อยังใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475

การยึดอำนาจกระทำโดยไม่ใช้การเคลื่อนกำลังใดๆ เพียงแต่เป็นประกาศการยึดอำนาจทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยโดย "คณะบริหารประเทศชั่วคราว" ประกอบด้วย 1.พล.อ.ผิน ชุณหะวัณ 2.พล.ท.เดช เดชประดิยุทธ์ 3.พล.ท.สฤษดิ์ ธนะรัชต์ 4.พล.ร.ต.หลวงยุทธศาสตร์โกศล 5.พล.ร.ต.หลวงชำนาญอรรถยุทธ 6.พล.ร.ต.สุนทร สุนทรนาวิน 7.พล.อ.อ.ฟื้น รณนภากาศ ฤทธาคนี 8.พล.อ.ท.หลวงเชิดวุฒากาศ 9.พล.อ.ท.หลวงปรุงปรีชากาศ

ทั้งนี้ข้ออ้างสุดคลาสสิกในการยึดอำนาจการปกครองโดยกลุ่มนายทหารชั้นสูงของกองทัพ และยังคงถูกนำมาใช้สืบเนื่องเป็น "ใบปะหน้า" การทำรัฐประหารในเวลาต่อมา จนแม้เมื่อ 19 กันยายน 2549 ก็คือ "เนื่องจากสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันตกอยู่ในความคับขันทั่วไป ภัยแห่งคอมมิวนิสต์ได้ถูกคุกคามเข้ามาอย่างรุนแรง ในคณะรัฐมนตรีปัจจุบันนี้ก็ยังดี ในรัฐสภาก็ดี มีอิทธิพลของคอมมิวนิสต์เข้าแทรกซึมอยู่เป็นอันมาก แม้ว่ารัฐบาลจะทำความพยายามสักเพียงใด ก็ไม่สามารถจะแก้ปัญหาเรื่องคอมมิวนิสต์ได้ ทั้งไม่สามารถปราบการทุจริตที่เรียกว่า คอร์รัปชั่น ดังที่มุ่งหมายว่าจะปราบนั้นด้วย ความเสื่อมโทรมมีมากขึ้น จนเป็นที่วิตกกันทั่วไปว่า ประเทศชาติจะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในสถานการณ์การเมืองอย่างนี้"

ผลพวงสำคัญจากการรัฐประหารเงียบนี้ ส่งให้ จอมพล ป.ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีชั่วคราวพร้อมคณะรัฐมนตรีชั่วคราวจำนวน 17 คนในวันยึดอำนาจ 29 พฤศจิกายนนั้นเอง ถัดมาอีก 1 วัน "คณะบริหารประเทศชั่วคราว" ประกาศแต่งตั้งสมาชิกสภาประเภทที่สองจำนวน 123 คน ซึ่งเปิดประชุมสภาทันทีในวันที่ 1 ธันวาคม เพื่อลงมติเลือกจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ในเวลาต่อมาพรรคประชาธิปัตย์ได้ประกาศคว่ำบาตรรัฐบาลทุกประการ

สำหรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2495 ที่เป็นผลพวงของความพยายามในการการประนีประนอม ระหว่างอำนาจใหม่กับอำนาจเก่า สมาชิกคณะผู้ร่างประกอบด้วย เจ้าพระยาศรีธรรมาธิเบศ, พระยาศรีวิสารวาจา, พระยาเทพวิทุร, หลวงประกอบนิติสาร, นายเพียร ราชธรรมนิเทศ, พระยาอรรถการีย์นิพนธ์, หม่อมราชวงศ์เสนีย์ ปราโมช, นายสุวิชช์ พันธ์เศรษฐ และ นายหยุด แสงอุทัย ทั้งนี้ฝ่ายรัฐบาลทหารยอมให้คงไว้เพียงสาระบางประการใน "รัฐธรรมนูญกษัตริย์นิยม" เท่านั้น เช่น การให้คงมีคณะองคมนตรีที่ทรงตั้งตามพระราชอัธยาศัยต่อไป แต่ไม่ปรากฏข้อความให้ทรงสามารถเลือกและแต่งตั้งวุฒิสภาด้วยพระองค์เองดังเดิม นั่นคือ รัฐธรรมนูญฉบับ 2495 นี้เป็นการจำกัดอำนาจพระมหากษัตริย์ไว้เพียงในขอบเขตกิจการส่วนพระองค์เท่านั้น แต่ไม่เปิดช่องทางให้ทรงใช้อำนาจผ่านทางรัฐสภาได้อีก.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 12-18 กันยายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย" กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520 ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น. จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนต...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่าย กระทิงแดง ยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบ...