ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (27)

กบฏสันติภาพ 2495:
คิดต่างคือความผิดร้ายแรง

การกล่าวถึง "กบฏสันติภาพ" ซึ่งเป็นการกวาดล้างนักคิด นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ตลอดจนปัญญาชน นิสิต นักศึกษาจำนวนมากในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 นั้นจำต้องย้อนความไปในช่วงปลายปี 2493 เมื่อมีการเคลื่อนไหวรณรงค์สันติภาพ โดยออกหนังสือพิมพ์ "การเมือง" ที่มีนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ และนายบุญชู โรจนเสถียร เป็นเจ้าของ โดยมีนายอัศนี พลจันทร และนายเสนาะ พาณิชเจริญ เป็นผู้ดูแลการผลิตหนังสือพิมพ์ และใช้ชื่อนายแพทย์เจริญ สืบแสง จดทะเบียนเป็นเจ้าของผู้พิมพ์โฆษณา

หนังสือพิมพ์ "การเมือง" ดำเนินการรณรงค์สันติภาพด้วยการเรียกร้องให้ลงชื่อสนับสนุนข้อเรียกร้อง สันติภาพสตอกโฮล์ม ภายใน 5 สัปดาห์สามารถระดมรายชื่อได้ถึง 38,315 รายชื่อ ซึ่งกว่า 2,000 ชื่อในนั้นมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และในเวลา 2 เดือนก็สามารถหารายชื่อได้มากกว่า 150,000 รายชื่อ

ต่อมาในวันที่ 22 เมษายน 2494 มีการจัดประชุมลับบนเรือที่ล่องไปตามแม่น้ำเจ้าพระยา ประมาณ 30 คน โดยมีตัวแทนจากหลากหลายอาชีพ ทั้งพระ ชาวนา นักหนังสือพิมพ์ นักศึกษา และกรรมกร ที่ประชุมมีมติให้จัดตั้ง "คณะกรรมการสันติภาพ" ขึ้น โดยมีนายแพทย์เจริญ สืบแสง เป็นประธาน นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ และพระมหาดิลก สุวรรณรัตน์ เป็นรองประธาน นาย ส.โชติพันธุ์ (สิบโทเริง เมฆประเสริฐ) เป็นเลขาธิการ ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านสงครามในคาบสมุทรเกาหลี ต่อต้านรัฐบาลสหรัฐอเมริกาซึ่งสนับสนุนสงครามเกาหลี เรียกร้องให้รัฐบาลไทยถอนตัวจากสงครามเกาหลี และกำลังเตรียมตัวเข้าร่วมประชุมกับนานาชาติในประเทศจีน

นอกจากนั้นมีการจัดตั้ง "คณะกรรมการสันติภาพนักศึกษา" ขึ้นในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีนายทวีป วรดิลก และนายอาทร พุทธิสมบูรณ์ เป็นเลขานุการ ซึ่งก่อนหน้านั้นในวันที่ 13 มีนาคม 2495 มีพระราชบัญญัติประกาศเปลี่ยนชื่อจาก "มหาวิทยาลัยวิชาธรรมศาสตร์และการเมือง" เหลือเพียง "มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์" เฉยๆ พร้อมกับยกเลิกตำแหน่ง "ผู้ประศาสน์การ" เพื่อถอดถอนนายปรีดี พนมยงค์ และตั้งตำแหน่ง "อธิการบดี" ขึ้นมาแทน โดยมี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี เป็นอธิการบดีคนแรก (2495-2500)

แต่แล้วในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2495 รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ดำเนินการจับกุมผู้ต้องสงสัยเป็นจำนวนมาก รวมทั้งนายประสิทธิ์ เทียนศิริ ซึ่งมีข่าวว่าเป็นสมาชิกคนสำคัญของ "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย" ได้โดยบังเอิญเช่นนี้ ทำให้เกิดการขยายผลการจับกุมไปสู่ขบวนการสันติภาพใน 3 วันต่อมา ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการกดดันของสหรัฐและอังกฤษว่ารัฐบาลไทยไม่ให้ความสำคัญต่อปัญหาคอมมิวนิสต์ตามที่มหาอำนาจผู้ชนะสงครามทั้งสองต้องการ

บรรดาบุคคลที่เข้าร่วมสนับสนุนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องสันติภาพและถูกจับกุมในครั้งนี้มีหลากหลายกลุ่มรวมทั้งสิ้น 104 คน ประกอบไปด้วยนักเขียนหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง อาทิ นายกุหลาบ สายประดิษฐ์ นายอารีย์ ลีวีระ เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามนิกร, นายสุภา ศิริมานนท์ เจ้าของและบรรณาธิการนิตยสารอักษรสาส์น, นายอุทธรณ์ พลกุล บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ, นายแสวง ตุงคะบริหาร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์สยามนิกร, นายบุศย์ สิมะเสถียร บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ไทย, นายฉัตร บุณยศิริชัย บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ข่าวภาพ, นายสมุทร สุรักขกะ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์เกียรติศักดิ์, นายสมัคร บุราวาศ, นายเปลื้อง วรรณศรี ฯลฯ และนักเคลื่อนไหวทางการเมืองต่อต้านรัฐบาล อาทิ นายมารุต บุนนาค ประธานกรรมการสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, นายลิ่วละล่อง บุนนาค (ผู้นำนักศึกษา), นายสุวัฒน์ วรดิลก (นักประพันธ์), นายฟัก ณ สงขลา (ทนายความ), นายสุ่น กิจจำนงค์ เลขาธิการสมาคมสหอาชีวกรรมกร, นายสุพจน์ ด่านตระกูล ฯลฯ ต่อมามีการจับกุมเพิ่มเติม อาทิ ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ (ภริยารัฐบุรุษอาวุโส-นายปรีดี พนมยงค์), นายปาล พนมยงค์, นายสุภัทร สุคนธาภิรมย์, พลตรีเนตร เขมะโยธิน เป็นต้น บรรดาผู้ที่ถูกจับกุมนั้นเป็นที่ทราบกันว่าเป็นผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรง กับรัฐบาล บางรายกำลังเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลอย่างลับๆ

ทั้งนี้ รัฐบาลออกประกาศโดยอาศัยอำนาจตามความในกฎหมายลักษณะอาญา ร.ศ. 127 มาตรา 102, 104, 177, 181 และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายลักษณะอาญา (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2478 มาตรา 4 ในการจับกุมครั้งนี้กรมตำรวจได้ออกแถลงการณ์ในวันที่ 10 พฤศจิกายนว่า "ด้วยปรากฏจากการสอบสวนของกรมตำรวจว่ามีบุคคลคณะหนึ่งได้สมคบกันกระทำผิดกฎหมาย ด้วยการยุยงให้มีการเกลียดชังกันในระหว่างคนไทย เพื่อก่อให้เกิดการแตกแยก เกิดการทำลายกันเอง โดยใช้อุบายต่างๆ เช่น ปลุกปั่นแบ่งชั้น เป็นชนชั้นนายทุนบ้าง ชนชั้นกรรมกรบ้าง ชักชวนให้เกลียดชังชาวต่างประเทศที่เป็นมิตรของประเทศบ้าง อันเป็นการที่อาจจะทำให้เสื่อมสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ยุยงให้ทหารที่รัฐบาลส่งออกไปรบในเกาหลีตามพันธะที่รัฐบาลมีอยู่ต่อองค์การสหประชาชาติให้เสื่อมเสียวินัย เมื่อเกิดการปั่นป่วนในบ้านเมืองได้ระยะเวลาเหมาะสมแล้วก็จะใช้กำลังเข้าทำ การเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบอื่นซึ่งมิใช่ระบอบประชาธิปไตย ด้วยการชักจูงชาวต่างประเทศเข้าร่วมทำการยึดครองประเทศไทย..." และในวันที่ 13 พฤศจิกายน รัฐบาลได้เร่งรัดผ่าน พ.ร.บ.คอมมิวนิสต์ผ่านรัฐสภา 3 วาระรวด เพื่อนำมาลงโทษผู้ต้องหากลุ่มนี้โดยเฉพาะ

ในวันที่ 14 ธันวาคม หรือ 2 วันหลังจากถูกตำรวจเรียกตัวออกจากรัฐสภา มีผู้พบศพนายเตียง ศิริขันธ์, นายเล็ก บุนนาค, นายผ่อง เขียววิจิตร, นายสง่า ประจักษ์วงศ์ และนายชาญ บุนนาค ถูกสังหารและนำไปเผาทิ้งที่ ต.แก่งเสี้ยน อ.เมือง จ.กาญจนบุรี

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2496 ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกนำตัวขึ้นศาลในข้อหากบฏ เนื่องจากไม่สามารถนำข้อหาคอมมิวนิสต์มากล่าวโทษย้อนหลังได้ ใช้เวลากว่า 2 ปี จึงมีคำพิพากษาว่าจำเลยทุกคน เว้นนายมงคล ณ นคร, นายเปลื้อง วรรณศรี, นายสัมผัส พึ่งประดิษฐ์, นายสิงห์ชัย บังคดานรา และนายฮางเฮ้า แซ่โง้ว เป็นผู้กระทำผิดจริงตามข้อกล่าวหา ให้จำคุกเป็นเวลา 13 ปี 4 เดือน ยกเว้นนายณรงค์ ชัยชาญ ถูกจำคุก 20 ปี เพราะไม่ยอมให้ปากคำ

ต่อมาในวันที่ 9 มีนาคม นายอารีย์ ลีวีระ เจ้าของหนังสือพิมพ์สยามนิกรและพิมพ์ไทย ซึ่งหลังจากถูกปล่อยตัวเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ก็ได้เข้าพิธีมงคลสมรสกับนางสาวกานดา บุญรัตน์ เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ และเดินทางไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ที่ชายทะเลบ้านหนองแก อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ถูกยิงเสียชีวิตที่เรือนพัก โดยตำรวจยศสิบตำรวจโทและพลตำรวจอีก 4 นาย จากกองกำกับการจังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งอ้างคำสั่งของ พ.ต.ท.ศิริชัย กระจ่างวงศ์ หนึ่งในนายตำรวจอัศวินแหวนเพชร ลูกน้องของ พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ (ประกาศ วัชราภรณ์ ทำเนียบคนหนังสือพิมพ์, กรุงเทพฯ : ไทยวัฒนาพานิช พ.ศ. 2506)


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 19-25 กันยายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย" กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520 ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น. จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนต...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่าย กระทิงแดง ยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบ...