รัฐบาลสัญญา 1: ประชาธิปไตยผลิบาน
ตัวเลขที่เป็นทางการจากการตรวจสอบติดตามของคณะกรรมการที่ประกอบขึ้นจากตัวแทนกลุ่มบุคคลหลายฝ่าย รายงานผลจากเหตุการณ์รุนแรงตลอดวันที่ 14-15 ตุลาคม 2516 ว่ามีผู้เสียชีวิตถึง 77 คน และบาดเจ็บอีก 857 คน
นับจากวันอังคารที่ 16 ตุลาคม กรุงเทพฯ เริ่มกลับสู่ภาวะปรกติ นักเรียน นิสิตนักศึกษาพากันมาช่วยเก็บกวาดสิ่งหักพัง ตลอดจนทำความสะอาดพื้นที่ที่เกิดความเสียหายทั่วกรุงเทพโดยเฉพาะตลอดแนวถนน ราชดำเนินกลาง และมีหน่วยอาสาสมัครแพทย์และพยาบาล เปิดศูนย์บริจาคโลหิตชั่วคราวขึ้นเพื่อรับบริจาคโลหิตช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ ในขณะเดียวกันประชาชนได้ร่วมบริจาคเงินและสิ่งของมายังศูนย์นิสิตฯ ไม่ขาดสาย
เวลาประมาณ 21.00 น. ของวันที่ 16 ตุลาคม จอมพลถนอมพร้อมครอบครัวออกเดินทางจากท่าอากาศยานดอนเมือง เพื่อลี้ภัยการเมืองไปอยู่เมืองบอสตัน รัฐแมสซาชูเซตต์ สหรัฐอเมริกา
เหตุการณ์ 14 ตุลา ได้รับการยอมรับว่าเป็นการลุกขึ้นสู้ของประชาชน (People’s uprising) ครั้งแรกที่ประสบความสำเร็จในยุคศตวรรษที่ 20 โดยเป็นแรงบันดาลใจให้กับภาคประชาชนในประเทศอื่นๆ ในเวลาต่อมา เช่น เหตุการณ์จลาจลที่เมืองกวางจู ในประเทศเกาหลีใต้ เป็นต้น
ในปี 2546 สภาผู้แทนราษฎรมีมติเอกฉันท์กำหนดให้วันที่ 14 ตุลาคมของทุกปีเป็น "วันประชาธิปไตย" เป็นวันสำคัญของชาติ ในโอกาสครบรอบเหตุการณ์ 30 ปี
สำหรับการบริหารบ้านเมืองหลังพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ องคมนตรี และอธิการบดี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมแล้วนั้น นายสัญญาจัดตั้งรัฐบาลประกอบด้วยคณะรัฐมนตรีรวม 28 คน อาทิเช่น พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ (รมว. กลาโหม) ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธ์ (รมว. เกษตรฯ) นายประกอบ หุตะสิงห์ (รมว. ยุติธรรม) พล.ต.ชาติชาย ชุณหะวัณ (รมช. ต่างประเทศ) น.พ.เสม พริ้งพวงแก้ว (รมช. สาธารณสุข) และแถลงนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม นอกจากนั้นยังแต่งตั้งให้ พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ขึ้นดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการรักษาความสงบ ใน วันที่ 30 ตุลาคม รัฐบาลประกาศยึดทรัพย์สินของจอมพล ถนอม กิตติขจร จอมพล ประภาส จารุเสถียร พันเอก ณรงค์ กิตติขจร และภรรยาของทั้ง 3 คน
ต่อมารัฐบาลออกกฎหมายนิรโทษกรรมแก่ผู้เข้าร่วมการประท้วงเพื่อขับไล่รัฐบาลจอมพลถนอม จนเกิดการใช้อาวุธสงครามเข้าปราบปราม รวมทั้งริเริ่มจัดรายการ "พบประชาชน" เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชน โดยออกอากาศทางโทรทัศน์เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2516
นอกจากนั้น รัฐบาลดำเนินการสำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญ โดยนายกรัฐมนตรีได้แต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 18 คน เมื่อวันที่ 24 ตุลาคม และทูลเกล้าฯ เสนอรายชื่อบุคคลวงการต่างๆ และมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมัชชาแห่งชาติ จำนวน 2,347 คน ในวันที่วันที่ 10 ธันวาคม ทั้งประกาศพระราชกฤษฎีกายุบสภานิติบัญญัติแห่งชาติชุดที่สืบเนื่องมาจาก รัฐบาลรัฐประหาร 3 ครั้ง นับจากปี 2500 ซึ่งยังคงสถานภาพอยู่ให้สิ้นสุดเมื่อ 16 ธันวาคม
เนื่องจากสมาชิกสมัชชาแห่งชาติมีจำนวนมาก จึงต้องใช้สนามราชตฤนมัยสมาคมเป็นที่ประชุม พิธีเปิดประชุมจัดในวันที่ 16 ธันวาคม 2516 พลตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์ ทรงเป็นประธานที่ประชุม สมัชชาฯ ได้เลือกตั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวน 299 คน ซึ่งได้รับการโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง และประชุมกันเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2516 โดยมี ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นประธานฯ พลเอก สำราญ แพทยกุล และนายประภาศน์ อวยชัย เป็นรองประธานฯ คนที่ 1 และคนที่ 2
ในวันที่ 18 มกราคม 2517 สภานิติบัญญัติฯ ได้เสนอกฎหมายยกเลิกคำสั่งของคณะปฏิวัติที่ให้จำคุกอดีตผู้แทนราษฎร 3 คน คือ นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และนายบุญเกิด หิรัญคำ บุคคลทั้ง 3 จึงได้รับปล่อยตัวจากเรือนจำบางขวาง
ทางด้านการเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษา หลังจากภาครัฐมีการขยับตัวเพื่อสถาปนาระบอบประชาธิปไตยอีกครั้ง ขณะเดียวกันเนื่องจากความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นระหว่างศูนย์นิสิตนิสิตฯ กับนักศึกษากลุ่มอิสระที่ค่อนข้างมีบทบาทระหว่างการชุมนุมที่เริ่มต้นที่ ธรรมศาสตร์ จึงนำไปสู่การก่อตั้ง "สหพันธ์นักศึกษาเสรีแห่งประเทศไทย (Federation of Independent Students of Thailand - FIST)" หรือเรียกกันในเวลานั้นว่า "สหพันธ์" ขึ้นในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนปี 2516 เริ่มต้นจากนักศึกษา 3 สถาบันคือ ธรรมศาสตร์ (ธรรมศาสตร์เสรี) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าวิทยาเขตบางมด (บางมดเสรี) และวิทยาลัยวิชาการศึกษาบางแสน หรือมหาวิทยาลัยบูรพาในปัจจุบัน (บางแสนเสรี) และขยายไปสู่มหาวิทยาลัยอีกหลายแห่งอาทิ จุฬาลงกรณ์ (จุฬาเสรี) เกษตรศาสตร์ (เกษตรเสรี) รามคำแหง (รามคำแหงเสรี) เป็นต้น
กิจกรรมเบื้องต้นของสหันธ์ฯ คือจัดขบวนเผยแพร่ประชาธิปไตยขึ้น 2 สาย คือ สายเหนือ และสายใต้ ซึ่งผลได้ 2 ประการสำคัญ คือ ประการแรก ประสบการณ์ในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด โดยมีจุดมุ่งหมายเดียวกันคือการสถาปนาการปกครองระบอบประชาธิปไตยขึ้นหลังจาก "ขับไล่ 3 ทรราชย์" เป็นผลสำเร็จ ประการถัดมา การได้หล่อหลอมตนเองลงสู่ประชาชน มีโอกาสรับรู้สภาพการณ์ที่เป็นจริงของชาวไร่ชาวนาและประชาชนส่วนข้างมากในชนบทของประเทศ รวมทั้งคนยากคนจนในเมืองที่เป็นผู้ใช้แรงงาน พ่อค้าแม่ค้าหาบเร่ และชาวสลัม
นับจากต้นปี 2517 มีการชุมนุมเดินขบวนเรียกร้องจากประชาชนวงการต่างๆอย่างไม่เคยมาก่อน ได้แก่ กรรมกรขอขึ้นค่าแรงงาน ชาวนา ชาวไร่ เรียกร้องขอความเป็นธรรมเรื่องค่าเช่านา และกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การเดินขบวนและการชุมนุมของนักศึกษาต่อปัญหาเอกราชอธิปไตย ฯลฯ
หลังจากรัฐบาลนายสัญญาบริหารราชการแผ่นดินมาครบ 6 เดือน คณะร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ร่างยังไม่เสร็จตามที่ได้ให้สัญญาไว้กับประชาชน รัฐบาลจึงได้กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 22 พฤษภาคม 2517 ทั้งนี้ตัวนายกรัฐมนตรีเองถูกเพ่งเล็งว่าอ่อนแอ ยอมตามคำเรียกร้องของนิสิตนักศึกษา รวมทั้งยังมีปัญหาต่างๆ อีกมาก ประกอบกับมีเสียงเรียกร้องให้ปรับคณะรัฐมนตรี มีการแทรกแซงการบริหารราชการแผ่นดินจากกลุ่มต่างๆ แม้แต่จากสภานิติบัญญัติ
ถึงกระนั้นก็ตาม ในการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อหารือถึงผู้ที่สมควรจะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ประชุมเห็นสมควรให้ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกวาระหนึ่ง เมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม 2517 นั้นเอง.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 9-15 มกราคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น