ไม่มีอำนาจใดในโลกหล้า ผู้ปกครองต่างมาแล้วสาบสูญ
ประมาณเที่ยงวันของวันที่ 14 ตุลาคม สถานการณ์รุนแรงหนักขึ้น จุดปะทะระหว่างนักเรียน นิสิต นักศึกษา และมีประชาชนที่สลัดทิ้งความเกรงกลัวต่ออำนาจเผด็จการทหาร ซึ่งครอบงำสังคมไทยมานับสิบปี ผนวกกับความเห็นอกเห็นใจเมื่อเห็นเยาวชนอันเป็นอนาคตของชาติ กล้าลุกขึ้นท้าทายอำนาจทมิฬที่ใช้ความรุนแรงและแสนายานุภาพทางทหารเข้ากระทำ ต่อลูกหลานของตนที่มีแต่ 2 มือเปล่ากับอาวุธตามมีตามเกิด ทำให้ฝูงชนที่ลุกขึ้นสู้เพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ การปะทะนองเลือดบนถนนราชดำเนิน ลุกลามไปจนถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริเวณสถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม บางลำพู
รัฐบาลที่นำโดย จอมพลถนอม-จอมพลประภาส-พันเอกณรงค์ ซึ่งในเวลาต่อมาฝ่ายที่ลุกขึ้นเรียกร้องประชาธิปไตยเรียกว่า "สามทรราชย์" ออกคำสั่งห้ามประชาชนออกนอกบ้าน ระหว่าง 22.00-05.30 น. และประกาศปิดโรงเรียนและสถาบันการศึกษาในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ทั้งนี้กำหนดให้บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเขตอันตราย เตรียมเข้าการกวาดล้างใหญ่ ให้ "พวกก่อจลาจล" ออกจากบริเวณดังกล่าวภายในเวลา 18.00 น.
18.00 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมประชาสัมพันธ์ออกอากาศการประกาศลาออกของจอมพลถนอมพร้อมรัฐบาลทั้งคณะ ทว่าประกาศดังกล่าวไม่ได้สร้างความเชื่อถือให้แก่นักศึกษาประชาชนเข้าร่วมการต่อสู้แต่อย่างใด เพราะจอมพลถนอมยังคงดำรงตำแหน่งตำแหน่งผู้บัญชาการทหารสูงสุดอยู่ ยิ่งใกล้ค่ำฝ่ายนักศึกษาประชาชนประมาณ 3 หมื่นคนจึงเคลื่อนกำลังมารวมตัวกันโดยรอบอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย และก่อนพระอาทิตย์ลับฟ้า มีเครื่องบินฝึกบินชั้นเดียว 1 ลำมาบินวน พร้อมกับประกาศการลาออกของรัฐบาลจอมพลถนอม ให้นักเรียนนักศึกษาหยุดการกระทำใดๆ และทหารตำรวจก็จะหยุดปฏิบัติการเช่นเดียวกัน
19.40 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเสด็จออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ พระราชทานกระแสพระราชดำรัสแก่ประชาชนชาวไทยความว่า วันที่ 14 ตุลาคม เป็นวันมหาวิปโยค และรัฐบาลจอมพลถนอมได้ลาออกแล้ว ในการนี้ทรงแต่งตั้งให้นายสัญญา ธรรมศักดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อจัดตั้งรัฐบาลทำหน้าที่บริหารประเทศเป็นการชั่วคราว
ช่วงกลางดึก มีการต่อสู้ระหว่างนักเรียนประชาชนกับตำรวจที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า ฝ่ายนักเรียนและประชาชนปักหลักสู้จากตึกบริษัทเดินอากาศไทยและป้อมมหากาฬที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มีควันไฟพวยพุ่งอยู่เป็นหย่อมๆ จากการต่อสู้เพื่อสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตย ในขณะที่ประชาชน 5 หมื่นคนนั่งเรียงรายบนถนนราชดำเนินกลางอย่างสงบ ผู้นำศูนย์นิสิตฯ ขาดการติดต่อกับแกนนำในแนวหน้า ซ้ำมีข่าวลือว่าบางคนเสียชีวิตแล้ว เช่น นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล และนางสาวเสาวนีย์ ลิมมานนท์ จึงมีการจัดตั้ง "คณะกรรมการศูนย์ปวงชนชาวไทย" ขึ้นเพื่อประสานงานในการติดตามและคลี่คลายสถานการณ์ คณะกรรมการศูนย์ฯมีประมาณ 10 คน ประกอบด้วยนิสิตจุฬาฯ นักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง นักศึกษาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต นักเรียนพาณิชย์การ แห่งละหนึ่งคน อดีตประธานศูนย์กลางนักเรียนแห่งประเทศไทย นอกจากนั้นเป็นประชาชนทั่วไป
เวลาประมาณ 00.05 น. ความพยายามของศูนย์ปวงชนชาวไทยในการหาทางเจรจาหยุดยิงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่มีความคืบหน้า นางสาวจิระนันท์ พิตรปรีชา นิสิตจุฬาฯ ขอร้องให้ผู้ชุมนุมอยู่ในความสงบ แต่การจลาจลก็ขยายวงกว้างออกไปทั่วกรุงเทพฯ มีการทำลายทรัพย์สินของทางราชการ เช่น เผาป้อมตำรวจทุกแห่ง ทำลายป้อมไฟสัญญาณจราจร ถังขยะเทศบาล เป็นต้น ตามถนนทุกสายไม่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจรักษาการณ์อยู่เลย
06.00 น. มีการกำลังทหารเข้ามาเสริมตามจุดต่างๆ ที่มีการปะทะ ถึงตอนนี้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกท้องที่ถอนตัวจากที่ตั้งตามสถานีตำรวจทั่วทั้งกรุงเทพฯ ยกเว้นที่กองบัญชาการตำรวจนครบาลสะพานผ่านฟ้าฯ ที่ยังคงมีการต้านทานอย่างเหนียวแน่น และหน่วยกล้าตายของนักศึกษาประชาชนที่ลุกขึ้นสู้ ยังคงตรึงกำลังและเข้าโจมตีเป็นระยะ ท้องถนนส่วนใหญ่ในกรุงเทพฯ ร้างยวดยานพาหนะแทบจะโดยสิ้นเชิงแล้ว
11.20 น. สถานีวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ออกอากาศว่า "พวกก่อจลาจล" เป็น "ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์" ยึดป้อมมหากาฬเป็นฐานยิงปืนของเครื่องยิง ระเบิด M 79 ทำลายกองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้า แต่กลับยิ่งทำให้ประชาชนเดินทางมาร่วมกับนักศึกษาประชาชนเพิ่มมากขึ้นเป็น จำนวนหลายหมื่นคน และทั้งๆที่คณะกรรมการศูนย์ปวงชนชาวไทยกระจายเสียงเป็นระยะๆ เพื่อให้สลายตัว แต่ไม่ได้ผล จำนวนประชาชนยังคงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
13.30 น. อาคารที่ตั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาลผ่านฟ้าและอาคารสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งถูกไฟไหม้อย่างหนัก ซึ่งมีนักเรียนนักศึกษาและประชาชนกลุ่มหนึ่งใช้รถดับเพลิงของสถานีฯ เข้าดับไฟที่กำลังไหม้สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้งไว้ได้ เพื่อป้องกันไม่ให้ลุกลามไปยังบ้านเรือนของประชาชนที่อยู่ใกล้เคียง
14.10 น. สถานีวิทยุในเครือข่ายกรมประชาสัมพันธ์อ่านประกาศกองบัญชาทหารสูงสุด ห้ามประชาชนออกนอกเคหสถานในเวลา 22.00-05.30 น. มิฉะนั้นจะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด
และตั้งแต่เวลาประมาณ 17.30 น.เป็นต้นไปมีนักเรียนนักศึกษาส่วนหนึ่งเริ่มทยอยกันกลับโดยรถโดยสารประจำทางที่วิ่งออกมารับโดยไม่เก็บค่าโดยสาร แต่มีบางส่วนยังคงชุมนุมอยู่ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยต่อไป
18.40 น. สถานีวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ได้ประกาศข่าวการหนีออกนอกประเทศของ "ถนอม-ประภาส-ณรงค์" ยังผลให้มีเสียงไชโยโห่ร้อง "มันหนีเราแล้ว เราชนะแล้ว" ไปทั่วบริเวณที่มีการชุมนุม และคำประกาศนี้ยุติสภาวการณ์จลาจลได้แทบจะในทันที นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนส่วนใหญ่ เดินทางกลับที่พักกันในเวลาไม่ช้า
20.30 น. สถานีวิทยุของกรมประชาสัมพันธ์ประกาศยกเลิกคำประกาศห้ามออกนอกบ้านหลัง 20.00 น. ตามที่ได้ประกาศเมื่อเวลา 19.30 น. หลังจากสถานการณ์จลาจลยุติลงโดยเด็ดขาด
21.47 น. จอมพล ประภาส จารุเสถียร พ.อ. ณรงค์ กิตติขจร และครอบครัวรวมทั้งผู้ติดตามรวมทั้งสิ้น 30 คน อันประกอบด้วยบุคคลที่มาจากครอบครัวของจอมพลประภาสจำนวน 25 คน และลูกน้องที่ให้ความคุ้มครอง อีกจำนวนหนึ่ง ได้เดินทางลี้ภัยการเมืองออกนอกประเทศโดยเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด เดินทางมุ่งหน้าไปกรุงไทเป กระเป๋าเดินทางของผู้ลี้ภัยทั้งหมดมีจำนวน 56 ใบมีน้ำหนัก 1,336 กิโลกรัม.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 2-8 มกราคม 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น