ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (4)

อำนาจหรือพระราชอำนาจในระบอบรัฐธรรมนูญสยาม 2475

พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และทรงลงพระปรมาภิไธยพระราชทานลงมา ณ วันที่ 27 มิถุนายน 2475 นั้นพระองค์ทรงเติมคำว่า "ชั่วคราว" กำกับต่อท้ายพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยาม โดยมีพระราชกระแสรับสั่งแก่คณะราษฎรว่าให้ใช้เป็นการชั่วคราว จากนั้นจึงให้เสนอสภาผู้แทนราษฎรตั้งคณะอนุกรรมการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร

ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2475 หลวงประดิษฐมนูธรรม (นายปรีดี พนมยงค์) แถลงต่อสภาฯว่า ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินที่ประกาศใช้แล้วนั้น เป็นฉบับชั่วคราวที่ร่างในเวลาฉุกละหุก ซึ่งอาจทำให้มีความบกพร่อง ไม่สามารถครอบคุลมในรายละเอียดที่จำเป็นอย่างเพียงพอสำหรับการปกครองในระบอบประชาธิปไตยที่พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในฐานะที่เป็นผู้รับผิดชอบร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองมาตั้งแต่ต้น จึงมีความเห็นว่าควรให้มีอนุกรรมการตรวจแก้ไขเพิ่มเติม

จากบันทึกรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ในที่สุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินมีจำนวน 7 คน โดยมี พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ และหลวงประดิษฐมนูธรรม นักกฎหมายจากฝรั่งเศสเพียงคนเดียว และในเวลานั้นอ่อนอาวุโสที่สุด เป็นเลขาธิการ มีกรรมการประกอบด้วย พระยาเทพวิทุรพหุลศรุตาบดี พระยามานวราชเสวี พระยานิติศาสตร์ไพศาลย์ (ทั้ง 3 คนนี้และตัวพระยามโนปกรณ์ฯเอง จบกฎหมายจากสหราชอาณาจักร) พระยาปรีดานฤเบศร์ และหลวงสินาดโยธารักษ์ (รงส.1/2475, 28 มิถุนายน 2475) ต่อมา พระมโนปกรณ์นิติธาดาเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎรขอให้แต่งตั้งอนุกรรมการฯเพิ่มขึ้นอีก 2 คน ได้แก่ พระยาศรีวิศาลวาจา และ นายพลเรือโทพระยาราชวังสัน เพื่อให้งานสำเร็จเร็วขึ้น (รงส.27/2475, 23 กันยายน 2475)

ในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวรนั้น มีความเห็นที่นำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ในเวลานั้นว่ามีการประนีประนอม ระหว่างคณะราษฎร ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระมหากษัตริย์ตลอดเวลา ซึ่งรวมถึงการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในสภาผู้แทนราษฎรด้วย ดังปรากฏในคำแถลงของประธานอนุกรรมการฯ ต่อสภาฯ ว่า

"…ในการร่างพระธรรมนูญนี้ อนุกรรมการได้ทำการติดต่อกับสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตลอดเวลา จนถึงอาจจะกล่าวได้ว่าได้ร่วมมือกันทำข้อความตลอดในร่างที่เสนอมานี้ ได้ทูลเกล้าฯถวาย และทรงเห็นชอบด้วยทุกประการแล้ว และที่กล่าวได้ว่าทรงเห็นชอบนั้น ไม่ใช่แต่เพียงทรงเห็นชอบด้วยย่างข้อความที่กราบบังคมทูลขึ้นไป ยิ่งกว่านั้น เป็นที่พอพระราชหฤทัยมาก…" (รงส. 34/2475 24 พฤศจิกายน 2475)

ระหว่างนั้น ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯร่างรัฐธรรมนูญฉบับถาวร มีการเสนอให้เรียกว่า "รัฐธรรมนูญ" แทนคำว่า "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน" ซึ่งคณะอนุกรรมการก็รับว่า เห็นควรใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ" ที่นายปรีดี พนมยงค์ อธิบายว่า หมายถึง "กฎหมายว่าด้วยระเบียบการปกครองแผ่นดินหรือรัฐ" ซึ่งในเวลาต่อมา หม่อมเจ้า วรรณไวทยากร วรวรรณ เสนอให้ใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ" และกลายมาเป็นธรรมเนียมปฏิบัติว่าถ้าผู้ร่างต้องการให้เป็นรัฐธรรมนูญฉบับ ถาวรจะใช้คำว่า "รัฐธรรมนูญ" แต่ถ้าจะใช้เป็นฉบับชั่วคราวจะเรียกว่า "ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน"

สภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญโดยใช้วิธีพิจารณาแบบอนุกรรมการเต็มสภา และพิจารณาแบบเรียงมาตรา เพื่อเร่งพิจารณาให้เสร็จทันกำหนดฤกษ์พระราชทานรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 (รงส. 34/2475 24 พฤศจิกายน 2475)

ในการร่างรัฐธรรมนูญที่เป็นที่เห็นพ้องต้องกันทั้งคณะผู้ร่าง คณะกรรมการราษฎร และสมาชิกระดับนำในคณะราษฎร นั้น ประเด็นสำคัญที่ควรได้รับการเผยแพร่เพื่อตระหนักในเจตนารมณ์พื้นฐาน ในอันที่จะทำความเข้าใจในเรื่อง "อำนาจธิปไตย" ในระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์อยู่ใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญ นั่นคือประเด็นว่าด้วย "อำนาจ" หรือที่เดิมในการปกครองสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการปกครองพระแผ่นดิน เป็นที่เข้าใจและรับรองกันว่าเป็น "พระราชอำนาจ"

ใน หมวด 1 พระมหากษัตริย์ บัญญัติไว้ว่า มาตรา 6 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจนิติบัญญัติโดย คำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร; มาตรา 7 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจบริหารทางคณะรัฐมนตรี; มาตรา 8 พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจตุลาการทางศาลที่ได้ตั้งขึ้นตามกฎหมาย

ทั้งนี้ในระหว่างการประชุมร่างรัฐธรรมนูญ (ฉบับถาวรที่ยกร่างและผ่านมติประกาศใช้ครั้งเดียวไปเลย) นั้นเอง มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับการใช้ถ้อยคำซึ่งในร่างรัฐธรรมนูญฯใช้คำว่า พระราชอำนาจบริหาร พระราชอำนาจนิติบัญญัติ และพระราชอำนาจตุลาการ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา ประธานอนุกรรมการฯ เสนอให้ตัดคำว่า "พระราช" ออก โดยให้เหตุผลว่า อำนาจนี้ไม่ใช่ของกษัตริย์ แต่เป็นอำนาจที่มาจากประชาชนชาวสยาม ในขณะที่สมาชิกบางส่วนเห็นว่า ควรคงไว้เพื่อรักษาความสุภาพอ่อนโยน (sentiment) แต่เจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรีอธิบายว่า อาจขัดกับความเป็นจริง (fact) ได้ ถ้าเช่นนั้นควรจะรักษาความเป็นจริงไว้ดีกว่า

ประธานอนุกรรมการฯกล่าวเพิ่มเติมว่า ในระบอบรัฐธรรมนูญ (constitutionalism) พระมหากษัตริย์ทรงใช้อำนาจในทางบริหารต่างจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (absolutism) ที่การบริหารใดๆ เป็นพระราชอำนาจ ดังนั้น การใช้อำนาจของพระมหากษัตริย์จึงต้องมีกรรมการราษฎร (ที่ต่อมาสภาฯ มีมติให้เรียกว่ารัฐมนตรี) เป็นผู้ลงนามสนองพระบรมราชโองการ โดยเฉพาะมาตรา 7 ซึ่งหลวงประดิษฐมนูธรรมกล่าวว่า เป็นบทบัญญัติที่จำกัดพระราชอำนาจบริหารของกษัตริย์ หากความสุภาพนุ่มนวลไม่ขัดกับ ความเป็นจริงก็จะรักษาภาษาสำนวน เพราะ "ไม่ต้องการให้ชอกช้ำ" เอาไว้ ในที่สุดที่ประชุมเห็นชอบให้ตัดคำว่า "พระราช" ออก (รงส. 35/2475 25 พฤศจิกายน 2475)

สำหรับคำว่า "คณะกรรมการราษฎร" ถูกนำมาพิจารณาในการประชุมสภาฯครั้งที่ 41 โดยมีการลงมติใช้คำว่า "รัฐมนตรี" 28 เสียงไม่ออกเสียง 24 เสียง และมีผู้เห็นควรใช้คำอื่น 7 เสียง จึงมีผลทำให้ใช้คำว่า "รัฐมนตรี" แทน "กรรมการราษฎร" รวมทั้งใช้คำว่า "คณะรัฐมนตรี" แทน "คณะกรรมการราษฎร" และใช้คำว่า "นายกรัฐมนตรี" แทนคำว่า "ประธานคณะกรรมการราษฎร" ตลอดจนมีการกำหนดความหมายใหม่ว่า "รัฐมนตรี" หมายถึง "ข้าราชการผู้ใหญ่ในแผ่นดิน" มิใช่ที่ปรึกษาของแผ่นดินอีกต่อไป เช่นที่มี "รัฐมนตรีสภา" ในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (รงส. 41/2475, 28 พฤศจิกายน 2475).


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 20-26 พฤศจิกายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย" กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520 ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น. จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนต...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่าย กระทิงแดง ยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบ...