วันคืนสุกดิบ 14 ตุลาฯ: กงล้อประวัติศาสตร์เริ่มหมุน
แม้จะดูเหมือนกว่าภายใต้การปกครองในนาม "สภาบริหารคณะปฏิวัติ" ที่มีจอมพลถนอมเป็นประธาน โดยแต่งตั้งผู้อำนวยการ 4 ฝ่าย คือ 1. พล.อ.ประภาส จารุเสถียร เป็นผู้อำนวยการฝ่ายรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของประเทศ 2. นายพจน์ สารสิน เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจและการคลัง 3. พล.อ.อ.ทวี จุลละทรัพย์ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายเกษตรและคมนาคม และ 4. พล.ต.อ.ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นผู้อำนวยการฝ่ายศึกษาและสาธารณสุข
ในขณะที่ พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ลูกชายจอมพลถนอมและลูกเขยจอมพลประภาส ยังได้ดำรงตำแหน่งเป็นรองเลขาธิการคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (ก.ต.ป.) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจแทบจะเรียกได้ว่าครอบจักรวาลในการตรวจสอบควบคุมข้าราชการ
แต่กลับปรากฏว่ารัฐบาลคณะปฏิวัติกลับไม่สามารถสร้างเสถียรภาพในลักษณะเดียวกับรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ในช่วงก่อนหน้านั้นได้
ประจวบกับในปี 2515 จะมีการสถาปนาสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์ฯ ซึ่งมีพระชนมายุครบ 20 พรรษา ขึ้นเป็นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมารฯ จึงจำเป็นต้องมีรัฐบาลให้ถูกต้องตามธรรมเนียมนิยม เนื่องจากไม่เป็นการสมควรจัดให้มีพระราชพิธีสถาปนาฯ ในขณะที่บ้านเมืองยังอยู่ในระหว่างการปกครองของคณะรัฐประหาร จึงประกาศใช้ "ธรรมนูญการปกครองแห่งราชอาณาจักร พุทธศักราช 2515" ขึ้นในวันที่ 15 ธันวาคม ซึ่งมีบทบัญญัติทั้งสิ้นเพียง 23 มาตรา รัฐธรรมนูญฉบับนี้กำหนดให้มี "สภานิติบัญญัติแห่งชาติ" เพียงสภาเดียว ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งจำนวน 299 คน พล.ต.ศิริ สิริโยธิน เป็นประธาน โดยสมาชิกมีสิทธิตั้งกระทู้ถามรัฐบาลได้ แต่ไม่มีอำนาจเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และมีพระบรมราชโอการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งจอมพลถนอมเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง
แต่สิ่งหนึ่งที่สะท้อนความเป็นรัฐเผด็จการนั่นคือ การคงมาตรา 17 ไว้
ห้วงเวลานี้เองนายทหารหนุ่มใหญ่ที่เพิ่งได้รับพระบรมราชโองการฯ แต่งตั้งเป็นผู้บัญชาการศูนย์การทหารม้ายศพลตรี พร้อมกับเป็นสมาชิกวุฒิสภา เมื่อปี 2511 ก็ได้รับการแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ นั่นคือ พล.ต.เปรม ติณสูลานนท์
นับจากต้นปี 2516 เริ่มจากช่วงระหว่างวันที่ 5-20 มกราคม ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยก็จัดการรณรงค์ให้มี "ปักษ์เลิกซื้อสินค้าฟุ่มเฟือยของต่างประเทศ" โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะปลุกเร้าเพื่อเปลี่ยนค่านิยมของคนไทยที่นิยมใช้สินค้านำเข้าจากต่างประเทศที่เป็นความฟุ่มเฟือย นำไปสู่การเสียเปรียบดุลการค้ากับนานาชาติ ไม่เฉพาะชาติตะวันตก หากยังเน้นไปที่ญี่ปุ่นอีกด้วย
และในท่ามกลางความอึมครึมในบรรยากาศไม่เป็นประชาธิปไตยทางการเมือง ที่ประชาชนรวมทั้งนิสิตนักศึกษาส่วนหนึ่งได้มีโอกาสลิ้มรสสิทธิเสรีภาพจากการเลือกตั้งในปี 2512 นำไปสู่การตรวจสอบลักษณะ "อำนาจนิยม" ในขอบเขตปริมณฑลต่างๆในสังคม และที่สำคัญอำนาจอธิปไตยที่ถูกแทรกแซงในกรณี "ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299" ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2515 ปัญหาสิทธิเสรีภาพจึงเป็นประเด็นใจกลางในขบวนการนิสิตนักศึกษา
ถัดมาในวันที่ 29 เมษายน 2516 เฮลิคอปเตอร์ทหารหมายเลข ทบ.6102 เกิดอุบัติเหตุตกที่ อ.บางเลน จ.นครปฐม มีดาราหญิงชื่อดังในขณะนั้นคือ เมตตา รุ่งรัตน์ โดยสารไปด้วย มีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 6 คน ในซากเฮลิคอปเตอร์นั้นพบซากสัตว์เป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นซากกระทิงจากป่าสงวน "ทุ่งใหญ่นเรศวร" จุดกระแสไม่พอใจในหมู่นิสิตมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และประชาชนทั่วไปเป็นอย่างมาก หลังจากนั้นปลายเดือนพฤษภาคมและต้นเดือนมิถุนายน นิสิตนักศึกษากลุ่มอนุรักษ์ธรรมชาติฯ 4 มหาวิทยาลัยได้ออกหนังสือเปิดโปงเบื้องหลังเบื้องลึกชื่อ "บันทึกลับจากทุ่งใหญ่" ตามมาด้วยกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงในนาม "ชมรมคนรุ่นใหม่" ได้จัดพิมพ์หนังสือ "มหาวิทยาลัยที่ไม่มีคำตอบ" ซึ่งมีการพิมพ์ข้อความลอยๆ ว่า "สภาสัตว์ป่าแห่งทุ่งใหญ่ฯ มีมติให้ต่ออายุสัตว์ป่าอีก 1 ปี เนื่องจากสถานการณ์ภายในและภายนอกเป็นที่ไม่ไว้ใจ" ซึ่งรัฐบาลถือว่าเป็นการเสียดสีการต่ออายุราชการของจอมพลถนอมในฐานะผู้บัญชาการสูงสุด และจอมพลประภาสในฐานะผู้บัญชาการทหารบกอีกคนละหนึ่งปี โดยที่จอมพลถนอมนั้นเคยได้รับการต่ออายุมาก่อนหน้านั้นครั้งหนึ่งแล้ว ทางมหาวิทยาลัยโดย ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ อธิการบดี สั่งลบชื่อนักศึกษาที่เป็นแกนนำ 9 คนออกจากทะเบียนนักศึกษา
ยังผลให้เกิดการประท้วงของนักศึกษารามคำแหงและขยายตัวไปสู่นิสิตนักศึกษาสถาบันอื่นๆ ไม่เฉพาะกลุ่มอิสระที่มีการร่วมกิจกรรมกันมากขึ้น ในที่สุดศูนย์นิสิตฯ ประกาศตัวสนับสนุนและมีมติให้เดินขบวนในวันที่ 21-22 มิถุนายน 2516 มีนิสิตนักศึกษากว่า 5 หมื่นคน ทั้งของรัฐและเอกชนหลายสถาบันได้มาร่วมชุมนุมประท้วงที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย นับว่าเป็นการเคลื่อนไหวที่มีขนาดใหญ่และมีปริมาณผู้เข้าร่วมมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา โดยในครั้งนี้ประชาชนได้ให้การสนับสนุนการเคลื่อนไหวของนักศึกษาอย่างออกหน้าเป็นครั้งแรก
ข้อเรียกร้องในระยะแรก เพียงต้องการให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงยกเลิกคำสั่งลบชื่อนักศึกษาทั้ง 9 คนและรับเข้าศึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไข และเรียกร้องให้อธิการบดีลาออก แต่มีการยกระดับข้อเรียกร้องในเวลาต่อมา ให้รัฐบาลคืนอำนาจการปกครองให้แก่ประชาชน และให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนอีกด้วย ผลก็คือ ดร.ศักดิ์ยอมลาออก แต่ข้อเรียกร้องที่ต้องการให้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญภายใน 6 เดือนนั้นไม่มีคำตอบ
การเคลื่อนไหวของศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย จากการประท้วงทางด้านวัฒนธรรม ไปสู่การประท้วงทางการเมืองเฉพาะกรณี จนกระบวนการทางความคิดของคนหนุ่มสาวในรั้วมหาวิทยาลัย และแม้แต่ปัญญาชนร่วมสมัยบางส่วน เกิดการตกผลึกและรวมศูนย์ไปสู่การเคลื่อนไหวทั่วไปทางการเมือง ซึ่งหมายความว่า "ศูนย์นิสิตฯ" เป็นองค์การจัดตั้งของนิสิตนักศึกษาที่มีเนื้อหาทางการเมืองอย่างเป็น ธรรมชาติที่สุด หาใช่การ "ถูกล้างสมอง" หรือ "ปลุกปั่นยุยง" โดยอำนาจการเมืองนอกระบบ หรือภายใต้ข้อหา "คอมมิวนิสต์" ดังที่ "ผู้ปกครอง" ที่เป็นฝ่าย "ปฏิปักษ์ประชาธิปไตย" ใช้เป็นข้อ อ้างในการกำจัดทำลายล้างพลังประชาธิปไตยนับจากปี 2476
เมื่อเห็นรัฐบาลใช้ท่าทีเมินเฉยต่อการเรียกร้องประชาธิปไตยในที่สุดผู้นำศูนย์นิสิตฯ ซึ่งได้ประสานงานกับกลุ่มนักศึกษากลุ่มอิสระ ตลอดจนนักวิชาการอาจารย์มหาวิทยาลัยและผู้สนใจ จึงร่วมกันก่อตั้ง "กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ" ขึ้น โดยในขั้นแรกมีการรวบรวมรายชื่อหลากหลายอาชีพหลายวงการ ประชุมร่างแถลงการณ์ในวันที่ 5 ตุลาคม 2516 ทำเป็นใบปลิวเรียกร้องรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มเดินเท้าแจกจ่ายตามสถานที่ต่าง ๆ ในกรุงเทพฯ ตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม มีเนื้อหาอ้างถึงใจความในพระราชหัตถ์เลขาถึงสาเหตุที่ทรงสละราชสมบัติของรัชกาลที่ 7.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 21-27 พฤศจิกายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น