ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (35)

ถนอมกับอำนาจที่ไม่เด็ดขาด: การเคลื่อนไหวก่อน 14 ตุลาฯ

สำหรับในการประกาศใช้ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2511 นั้น ในวันที่ 4 กรกฎาคม 2511 มีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งสมาชิกวุฒิสภา จำนวน 120 คน ตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญเพื่อทำหน้าที่สมาชิกวุฒิสภาในรัฐสภา ทั้งนี้ในจำนวนสมาชิกวุฒิสภาคนสำคัญที่ยังคงมีบทบาททางการเมืองมาจนทุกวันนี้คือ พ.อ. เปรม ติณสูลานนท์ (ยศในขณะนั้น) ร่วมกับนายทหารและพลเรือนอื่นๆ เช่น ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช, พลเอก กฤษณ์ ศรีวะรา, พล.ต. เกรียงไกร อัตตะนันท์, พล.ท. เกรียงศักดิ์ ชมะนันท์, พล.ต.ท. พจน์ เภกะนันท์, พล.ต. ยศ เทพหัสดิน ณ อยุธยา, พ.อ. ยุทธศักดิ์ คล่องตรวจโรค, พล.ร.ท. สงัด ชะลออยู่, พล.ต.ต. สง่า กิตติขจร และ พล.ท. สายหยุด เกิดผล

แม้ว่าพรรคสหประชาไทยที่มีจอมพลถนอม กิตติขจร เป็นหัวหน้าพรรค จะได้เป็นแกนกลางจัดตั้งรัฐบาล ทั้งยังมีรองหัวหน้าพรรค 3 คนที่น่าจะสามารถทำหน้าที่ฝ่ายบริหารได้อย่างมีเสถียรภาพ คือ จอมพลประภาส จารุเสถียร, พล.ต.อ. ประเสริฐ รุจิรวงศ์ อธิบดีกรมตำรวจ และนายพจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรี และ พล.อ.อ. ทวี จุลละทรัพย์ เป็นเลขาธิการพรรคก็ตาม แต่รัฐบาลก็มีปัญหาวุ่นวายตามมาไม่สิ้นสุด อันเนื่องจากการต่อรองผลประโยชน์ภายใน อีกทั้งการต่อรองนอกพรรค เนื่องจากความจำเป็นต้องหาเสียงสนับสนุนเพิ่มเติม

ในการจดทะเบียนพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้งครั้งนี้ มีพรรคการเมืองเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก เช่น พรรค สหประชาไทย พรรคประชาธิปัตย์ พรรคประชาชน พรรคแนวร่วมเศรษฐกร พรรคเสรีประชาธิปไตย พรรคแนวประชาธิปไตย พรรคสัมมาชีพช่วยชาวนา พรรคชาวนาชาวไร่ พรรคสยามใหม่ พรรคประชาพัฒนา พรรคแรงงาน พรรคไทธิปัตย์ พรรคอิสระธรรม และ พรรคชาติประชาธิปไตย

โดยที่จำนวนผู้ได้รับเลือกตั้งเข้าสภาเป็นผู้ไม่สังกัดพรรคถึง 70 คน

ทว่าในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2514 จอมพลถนอมเป็นหัวหน้ากลุ่มเข้ายึดอำนาจจากรัฐบาลของตนเอง เรียกคณะของตนว่า "คณะปฏิวัติ" ประกาศยกเลิก "รัฐธรรมนูญ 2511" ยุบสภา ยกเลิกกฎหมายพรรคการเมือง ตามมาด้วยการประกาศใช้ "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2515" ซึ่งไม่ต่างไปจาก "ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พ.ศ.2502" มีการใช้ "มาตรา 17" ที่ให้อำนาจเผด็จการแก่นายกรัฐมนตรี หรือ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" โดยข้ออ้างในคำปรารภการยึดอำนาจว่า "ภัยที่คุกคามประเทศและราชบัลลังก์ สถานการณ์ภายใน ความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกสภานิติบัญญัติ การนัดหยุดงานของกรรมกร การเดินขบวนของนักศึกษา การแก้ไขสถานการณ์ถ้าจะดำเนินการตามวิถีทางรัฐธรรมนูญย่อมไม่ทันต่อเหตุการณ์ จึงจำเป็นต้องใช้การยึดอำนาจการปกครองเพื่อให้สามารถแก้ไขสถานการณ์ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน"

ภายหลังการรัฐประหาร นายอุทัย พิมพ์ใจชน ส.ส.จังหวัดชลบุรี ของพรรคประชาธิปัตย์พร้อมด้วย ส.ส. อีก 2 คน จังหวัดชัยภูมิ พรรคเดียวกัน คือ นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และ นายบุญเกิด หิรัญคำ ได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาให้ดำเนินคดีต่อคณะปฏิวัติในข้อหากบฏต่อแผ่นดิน ถือเป็นท้าทายอำนาจอย่างตรงไปตรงมา ทว่าทั้งสามคนกลับตกเป็นจำเลยเสียเอง และถูกตัดสินจำคุกถึง 10 ปี โดยได้รับการปล่อยตัวก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ ไม่นาน

แต่แล้วหลังการรัฐประหารที่นำโดยจอมพลถนอม กลับเป็นปลุก "ขบวนการนิสิตนักศึกษา" ให้คืนกลับมาหลังจากตกอยู่ในสภาพชะงักงันมานับจากการรัฐประหารของจอมพล สฤษดิ์ในปี 2501 และเริ่มมีการวมกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำกิจกรรมร่วมกัน ที่สำคัญ จากการประชุมสมาคมบริการนักศึกษานานาชาติแห่งประเทศไทย จัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อปี 2512 และการที่คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นเจ้าภาพจัดการสัมมนาหัวข้อ "บทบาทนักศึกษาในการพัฒนาประเทศ" ที่อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จนนำไปสู่การก่อตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการของ "ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (ศนท.)" หรือ "ศูนย์นิสิตฯ" ซึ่งมีชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า "The National Student Center of Thailand (NSCT)" เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2513

ในเวลาเดียวกัน นอกเหนือจากการเข้าร่วมกลุ่มอย่างเป็นทางการที่ค่อนข้างจะถูกจับตาอย่างใกล้ชิด และควบคุมการดำเนินกิจกรรมในรูปแบบ "สโมสรฯ" ซึ่งต่างจากรูปแบบ "องค์การฯ" ที่พัฒนาขึ้นจากการรณรงค์เคลื่อนไหวในหมู่นิสิตนักศึกษากลุ่มอิสระในมหาวิทยาลัยต่างๆ ช่วงปี 2511-2515 เช่น "กลุ่มฟื้นฟูโซตัสใหม่" จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในธรรมศาสตร์ที่มีลักษณะหลากหลายกว่า คือ "ชมรมนิติศึกษา" "กลุ่มเศรษฐธรรม" "กลุ่มผู้หญิง ม.ธ." และ "กลุ่มสภาหน้าโดม" นอกจากนนั้น ก็มี "สภากาแฟ" จากมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และ "ชมรมคนรุ่นใหม่" จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง ในส่วนภูมิภาคก็มีที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยกลุ่ม "วลัญชทัศน์" รวมทั้งนักศึกษาที่ยังไม่มีการรวมตัวเป็นกลุ่มก้อนเช่นในมหาวิทยาลัยมหิดลและ มศว.บางแสน

การเคลื่อนไหวของนิสิตนักศึกษาในระยะแรกยังอยู่ในขอบเขตรั้วมหาวิทยาลัย เช่นการคัดค้านฟุตบอลประเพณีหรืองานบันเทิงอื่นๆ ที่เต็มไปด้วยความฟุ่มเฟือย เช่นการจัดงาน "รับน้อง" รวมไปจนถึงการคัดค้านการประกวดนางสาวไทยที่เวทีวังสราญรมย์ อันเป็นการทำลายความเป็นมนุษย์และมีลักษณะกดขี่ทางเพศสำหรับ "เพศแม่"

ระหว่างวันที่ 20-30 พฤศจิกายน 2515 ศูนย์นิสิตฯ ชุดที่มี นายธีรยุทธ บุญมี เป็นเลขาธิการ จัดให้มีการรณรงค์ "สัปดาห์ไม่ซื้อสินค้าญี่ปุ่น" มีนักศึกษามหาวิทยาลัยทุกสถาบันเข้าร่วมเดินขบวนหลายครั้ง รวมทั้งยื่นหนังสือถึงหัวหน้ารัฐบาลให้หาทางลดการเสียเปรียบดุลการค้ากับประเทศญี่ปุ่นทุกวิถีทาง และปิดท้ายด้วยการเผาหุ่นนักธุรกิจ ข้าราชการและนักการเมืองที่มีผลประโยชน์ร่วมกับพ่อค้าญี่ปุ่นที่สนามหลวงในวันที่ 30 พฤศจิกายน

จากนั้นนิสิตนักศึกษาก็มีโอกาสยกระดับความรับรู้และการเคลื่อนไหวไปสู่การเผชิญหน้ากับอำนาจรัฐโดยตรงเป็นครั้งแรก จากการเรียกร้องให้นิสิตนักศึกษาหลายสถาบันร่วมเดินขบวนประท้วง "ประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่ 299" ที่ "ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานคณะตุลาการ ซึ่งแต่เดิมประกาศศาลฎีกาเป็นประธานคณะตุลาการ ส่วนกรรมการตุลาการ 9 คนนั้น เฉพาะกรรมการที่คณะผู้พิพากษาเป็นผู้เลือก 4 คน เปลี่ยนเป็นให้รัฐมนตรีเป็นผู้เลือก"

การประท้วงเริ่มขึ้นโดยนัก ศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จุฬา และรามคำแหง ต่อมาศูนย์ฯจึงเข้าร่วมด้วย และขยายตัวไปยังนิสิตนักศึกษาสถาบันอื่นๆ มีการชุมนุมข้ามคืนที่หน้าศาลอาญา สนามหลวง เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2515 ในที่สุดรัฐบาลเผด็จการก็ยอมยกเลิกประกาศคณะปฏิวัติฉบับดังกล่าว.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 14-20 พฤศจิกายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย" กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520 ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น. จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนต...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่าย กระทิงแดง ยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบ...