ที่ใดมีแรงกด ที่นั่นย่อมมีแรงต้าน:
"จงคืนอำนาจแก่ปวงชนชาวไทย"
"จงคืนอำนาจแก่ปวงชนชาวไทย"
วันเสาร์ที่ 6 ตุลาคม 2516 เวลา 09.15 น. กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญประมาณ 20 คน รวมตัวกันที่ลานอนุสาวรีย์ทหารอาสา บริเวณเชิงสะพานปิ่นเกล้าฯ เพื่อนำใบปลิวที่จัดเตรียมไว้แล้วเรียกร้องให้ประชาชนร่วมกันต่อสู้เพื่อ สิทธิเสรีภาพ รวมทั้งหนังสือเกี่ยวกับการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาแจกกับประชาชน
ที่ปกหน้าของหนังสือได้อัญเชิญพระราชหัตถเลขาการสละราชสมบัติของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีไปถึงคณะราษฎร มีความว่า "ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใดคณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิขาด และโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของราษฎร"
ในระหว่างที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญออกเดินแจกใบปลิวและหนังสือแสดงเจตนารมณ์ประชาธิปไตย มีการชูโปสเตอร์อีก 16 แผ่น มีข้อความสะท้อนเนื้อหาความคับข้องใจกับการปกครองภายใต้ระบอบเผด็จการ อาทิเช่น "น้ำตาเราตกใน เมื่อเราไร้รัฐธรรมนูญ" "จงคืนอำนาจแก่ปวงชนชาวไทย" "จงปลดปล่อยประชาชน" ฯลฯ
การแจกใบปลิวเคลื่อนไปสู่ตลาดนัดท้องสนามหลวง โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจตลอดจนช่างภาพและผู้สื่อข่าวทั้งไทยและเทศหลายสำนักติดตามไปอย่างใกล้ชิด หลังจากย้อนกลับไปรับเอกสารเพิ่มเติมที่ลานอนุสาวรีย์ทหารอาสาอีกครั้งหนึ่ง ก็เคลื่อนที่ไปตามร้านขายต้นไม้ริมคลองหลอดด้านรูปปั้นแม่พระธรณีบีบมวยผม ข้ามฟากไปหน้ากรมประชาสัมพันธ์สู่ตลาดบางลำพู
และแล้วชนวนสำคัญอันจะไปสู่เหตุการณ์ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยครั้งสำคัญครั้งหนึ่งของประเทศไทยก็มาถึงในเวลาประมาณ 15.00 น. ขณะที่กลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญกำลังแจกใบปลิวและเอกสารแก่ประชาชนบริเวณ ตลาดประตูน้ำ เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งได้ติดตามมาตลอดทางก็ได้รับคำสั่งให้เข้าจับกุมทันที มีหลายคนหลุดพ้นการจับกุมไปได้ ได้ตัวไว้เพียง 11 คน คือ
- นายธีรยุทธ บุญมี อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
- นายประพันธ์ศักดิ์ กมลเพชร อดีตอาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอดีตนักการเมืองแห่งขบวนการรัฐบุรุษ
- นายนพพร สุวรรณพานิช ประจำกองบรรณาธิการนิตยสาร มหาราษฎร์
- นายทวี หมื่นนิกร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายมนตรี จึงศิริอารักษ์ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 1 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- นายปรีดี บุญซื่อ นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายชัยวัฒน์ สุระวิชัย วิศวกรสุขาภิบาล (จุฬา) อดีตกรรมการบริหารศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย
- นายบุญส่ง ชเลธร นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 2 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- นายวิสา คัญทัพ นักศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง
- นายบัณฑิต เองนิลรัตน์ นักศึกษาคณะศิลปศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
- นายธัญญา ชุนชฎาธาร นักศึกษาคณะรัฐศาสตร์ ปี 4 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ทั้งหมดถูกนำตัวไปสอบสวนที่สันติบาล กอง 2 กรมตำรวจ ปทุมวัน ตกเย็นเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลก็ยกกำลังเข้าค้นบ้านและสถานที่ที่ผู้ถูกจับกุมมีส่วนเกี่ยวข้อง พร้อมทั้งตั้งข้อหา "มั่วสุ่มชักชวนให้มีการชุมนุมทางการเมือง"
เวลา 00.30 น.ของวันที่ 7 ตุลาคม ทั้ง 11 คนก็ถูกนำตัวขึ้นรถไปเพื่อไปกักกันตัวที่โรงเรียนพลตำรวจนครบางเขนร่วมกับผู้ต้องหาในคดีมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และผู้ต้องหาเนรเทศ เมื่อไปถึงก็ถูกแยกห้องขังเพื่อป้องกันมิให้ปรึกษากัน เจ้าหน้าที่ตำรวจตั้งข้อหาเพิ่มเติมแก่ผู้ถูกจับกุม ว่า "ขัดขืนคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 4" และเพิ่มข้อหา "ขบถภายในราชอาณาจักร" ตามกฎหมายอาญามาตรา 116
ช่วงเช้าศูนย์นิสิตฯ เรียกประชุมกรรมการเป็นกรณีฉุกเฉิน และมีมติให้ออกแถลงการณ์คัดค้านการจับกุมของรัฐบาลเผด็จการ "ถนอม- ประภาส" ในเวลา 13.00 น. โดยยืนยันว่า "จะยืนหยัดร่วมกับประชาชนในการพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิเสรีภาพอันชอบธรรม"
ต่อมาในเวลา 14.00 น.เจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลหัวหมากเข้าจับกุมตัว นายก้องเกียรติ คงคา นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ ปี 3 มหาวิทยาลัยรามคำแหง จากหอพักไปสอบสวนที่กองกำกับการตำรวจสันติบาล 2 เพิ่มอีกคนหนึ่ง โดยตั้งข้อหาเช่นเดียวกัน ทั้งที่นายก้องเกียรติหาไม่ได้ร่วมลงชื่อในเอกสารของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ และไม่ได้ไปร่วมแจกใบปลิวและหนังสือร่วมกับกลุ่มฯ ในวันที่ 6 ตุลาคมแต่อย่างใด
คืนนั้นนิสิตนักศึกษากลุ่มอิสระตามมหาวิทยาลัยต่างๆ จัดให้มีการประชุมเพื่อประเมินสถานการณ์และวาง แนวทางการเคลื่อนไหวโดยมีจุดมุ่งหมายเบื้องต้น ในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ถูกจับกุมทั้ง 12 คน ด้วยการประท้วงการกระทำของรัฐบาลโดยฉับพลัน พร้อมทั้งเสนอว่า องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) น่าจะผลักดันให้นักศึกษาธรรมศาสตร์ไม่เข้าห้องสอบในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันแรกของการสอบประจำภาคแรกของปีการศึกษา 2516
ผลการประชุมขบวนการนิสิตนักศึกษาทั้งที่ประกอบไปด้วยกลุ่มอิสระจากทุกมหาวิทยาลัย รวมทั้งตัวแทนที่มาจกส่วนภูมิภาค และด้วยความเห็นชอบของ อมธ. มีมติให้นักศึกษาธรรมศาสตร์เป็นกลุ่มแรกที่ดำเนินการประท้วง โดยเริ่มปิดโปสเตอร์คัดค้านและโจมตีการกระทำของรัฐบาล เพื่อดูท่าทีของนักศึกษาทั้งประเทศ ในขณะที่ศูนย์นิสิตฯ และองค์การนิสิตนักศึกษาจากสถาบันอื่น เสนอให้นักศึกษาธรรมศาสตร์พยายามตรึงเหตุการณ์จนถึงวัน ที่ 12 ตุลาคมซึ่งเป็นวันสอบวันสุดท้ายของสถาบันอุดมศึกษาทั้งประเทศ เพื่อจะนำนิสิตนึกศึกษาเข้ามาสมทบ
เช้าวันที่ 8 ตุลาคม กองบังคับการตำรวจสันติบาลออกหมายจับ นายไขแสง สุกใส อดีต ส.ส. นครพนม ทั่วประเทศ โดยให้เหตุผลว่า จากการค้นสำนักงานที่ดำเนินงานด้านกฎหมาย "ธรรมรังสี" ได้พบเอกสารส่อว่านายไขแสงอยู่เบื้องหลังการเรียกร้องรัฐธรรมนูญครั้งนี้
ส่วนที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ปรากฏแผ่นโปสเตอร์โจมตีการกระทำของรัฐบาลอย่างรุนแรง หลายแผ่น ติดทั่วมหาวิทยาลัย โดยชักชวนให้นักศึกษารวมกลุ่มกันไปเยี่ยมผู้ที่ถูกคุมขัง.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 28 พฤศจิกายน - 4 ธันวาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น