ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (38)

ลานโพธิ์: ที่มั่นแห่งแรกสู้เพื่อเอาประชาชนคืนมา

นับจากช่วงสายของวันที่ 8 ตุลาคม ขบวนการนักศึกษาที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ชาติไทยก็เริ่มต้นขับเคลื่อน หลังจากการประสานงานกันระหว่างนิสิต นักศึกษากลุ่มต่างๆ ที่วิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร (มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒปัจจุบัน) มีนักศึกษาจำนวนมากชุมนุมเรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างเปิดเผยภายในรั้ววิทยาลัย

ในเวลาเดียวกันที่จังหวัดเชียงใหม่มีการโปรยใบปลิวไปทั่วเขตตัวเมือง รวมทั้งปิดโปสเตอร์ตามถนนสายหลักต่างๆ มีข้อความสนับสนุนกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ พร้อมกับโจมตีรัฐบาล นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่แถลงว่ากำลังติดตามข่าวและจะส่งผู้แทนนักศึกษามาร่วมหารือกับศูนย์ที่กรุงเทพฯ

ช่วงบ่ายจอมพลประภาส จารุเสถียร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานการประชุมข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงมหาดไทย ครั้งที่ 28/2516 เรื่อง "การจับกุมกลุ่มบุคคลผู้เรียกร้องให้มีกฎหมายรัฐธรรมนูญ" ทั้งนี้ เนื้อหาในการประชุมสรุปสถานการณ์ จอมพลประภาสได้เท้าความการเคลื่อนไหวของนิสิต นักศึกษา นับตั้งแต่กรณีประท้วง ดร.ศักดิ์ ผาสุขนิรันดร์ การลบชื่อ 9 นักศึกษาออกจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จนถึงการเคลื่อนไหวของกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญ ว่าถูกบงการโดยคอมมิวนิสต์จากต่างประเทศเข้ามาแทรกแซง โดยย้ำกับที่ประชุมว่า "เชื่อว่านิสิต นักศึกษาจะเสียไปราว 2% จากจำนวนเป็นแสนคน จำต้องเสียสละเพื่อความอยู่รอดของบ้านเมือง"

ทันทีที่เสร็จสิ้นการประชุมกรมตำรวจ (ในขณะนั้นมีฐานะเป็นกรม สังกัดกระทรวงมหาดไทย) มีคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจนครบาลทั้งหมด รวมทั้งเจ้าหน้าที่กองปราบปรามและสันติบาลเตรียมพร้อมเต็มอัตรา

จากช่วงเช้ามืดของวันที่ 9 ตุลาคม นักศึกษาธรรมศาสตร์ระดมกำลังกันช่วยติดโปสเตอร์ทุกประตูทางเข้ามหาวิทยาลัย และตึกเรียนทุกตึกถูกปิดตาย มีโปสเตอร์ "งดสอบ ไปรวมกันที่ลานโพธิ์" ติดทั่วมหาวิทยาลัย ชักชวนให้นักศึกษาไปร่วมกันประท้วงที่ลานโพธิ์ หน้าตึกคณะศิลปศาสตร์ และประณามการกระทำของรัฐบาลอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะประตูด้านท่าพระจันทร์มีผ้าผืนใหญ่เขียนข้อความว่า "เอาประชาชนคืนมา" ที่ลานโพธิ์ด้านหลังเวทีอภิปรายมีข้อความว่า "ต้องการรัฐธรรมนูญเป็นกบฏหรือ" ส่วนประตูด้านสนามหลวงมีแผ่นผ้าเขียนว่า "ธรรมศาสตร์ตายเสียแล้วหรือ" ฯลฯ

หลัง 08.00 น. จำนวนนักศึกษาเพิ่มขึ้นจนเต็มลานโพธิ์ มีการลดธงชาติลง และชักธงดำขึ้นสู่ยอดเสาแทน แต่ ศ.อดุลย์ วิเชียรเจริญ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ ได้ขอร้องให้ชักธงชาติขึ้นสู่ยอดเสา ซึ่งนักศึกษาก็ยอมปฏิบัติตาม เมื่อใกล้เวลา 10.00 น. มีนักศึกษามาชุมนุมประมาณเกือบ 1,000 คน ทาง อมธ. ได้เริ่มรับบริจาคเงินในการต่อสู้ด้วย ในขณะที่นักศึกษาวิชาการศึกษาประสานมิตรประมาณพันกว่าคนได้เข้าไปชุมนุมกันในหอประชุมใหญ่ ตัวแทนนักศึกษาผลัดกันขึ้นโจมตีระบอบเผด็จการ "ถนอม-ประภาส" และการคอร์รัปชันตลอดเวลา พร้อมกับออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมดภายในวันที่ 13 ตุลาคม และให้รัฐบาลประกาศใช้รัฐธรรมนูญในวันที่ 10 ธันวาคม 2516 ส่วนทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ "กลุ่มนักศึกษาผู้รักชาติ" ออกแถลงการณ์ในทำนองเดียวกัน พร้อมทั้งมีโปสเตอร์ชักชวนว่า "เราจะพบกันที่กรุงเทพฯ"

เวลา 10.30 น. นายไขแสง สุกใส เข้ามอบตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจสันติบาลที่กองบังคับตำรวจสันติบาล 2 และกล่าวว่าตนเป็นผู้บริสุทธิ์ จะเอาไปประหารชีวิตก็ยอม

ส่วนที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง นักศึกษาประมาณ 2,000 คนรวมตัวชุมนุมกันที่บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์พ่อขุนรามคำแหง เรียกร้องให้มหาวิทยาลัยรามคำแหงเลื่อนการสอบประจำภาค และประกาศจะชุมนุมกันทุกวันจนกว่ารัฐบาลจะปล่อยตัวผู้ถูกจับกุม

นอกจากนั้นด้านเวทีอภิปรายบริเวณลานโพธิ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นิสิต นักศึกษา จากวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้ส่งตัวแทนเข้าร่วมการไฮปาร์ค

จนถึงเวลา 15.30 น. คณาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 205 คน ซึ่งประชุมกันตั้งแต่ตอนเช้ามีมติเป็นเอกฉันท์ทำหนังสือด่วนมากถึงจอมพลถนอม กิตติขจร เรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญทั้งหมดโดยด่วนอย่างไม่มีเงื่อนไข ในขณะเดียวกันนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลและวิทยาลัยวิชาการศึกษาประสานมิตร เริ่มทยอยเข้ามาสมทบที่ลานโพธิ์ ส่วนสโมสรนิสิตจุฬาฯแถลงว่าจะร่วมต่อสู้กับองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในวันที่ 12 ตุลาคม 2516 ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการสอบประจำภาคของนิสิตส่วนใหญ่ รวมทั้งนักศึกษาแพทยศาสตร์ศิริราชข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาตั้งหน่วยแพทย์อาสา สมัคร

และเหมือนเป็นการยั่วยุ ซึ่งสะท้อนจิตสำนึกของ "เผด็จการ" ที่ไม่เคยตระหนักถึงการเรียกร้องความต้องการอย่างบริสุทธิ์ใจของนิสิต นักศึกษา ตลอดจนประชาชนที่ต้องการประชาธิปไตยและความเป็นธรรม ในเวลา 16.45 น. จอมพลถนอมมีคำสั่งโดยมติของคณะรัฐมนตรีให้ใช้อำนาจ ม.17 สั่งควบคุมตัวนายไขแสง สุกใส กับพวกไว้จนกว่าการสอบสวนจะเสร็จสิ้น ในเวลาไล่เรี่ยกันภายหลังการประชุมคณบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ อธิการบดี ได้ออกประกาศของมหาวิทยาลัยเลื่อนการสอบภาคแรกออกไปจนกว่าเหตุการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปรกติ

เท่ากับเป็นการเริ่มต้นถึงสัญญาณของ "ไม่ชนะไม่เลิก" ของทั้ง 2 ฝ่าย คือฝ่ายรัฐบาลเผด็จการคณะปฏิวัติ และฝ่ายที่ต้องการประชาธิปไตยและรัฐธรรมนูญ ที่ก่อตัวโดยคนหนุ่มสาวนิสิต นักศึกษา และนักเรียนที่มีลักษณะทั่วประเทศ จำนวนนักศึกษาในช่วงเย็นเริ่มขยับจากพันเป็นหมื่น และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่ส่วนกลางกำลังชุมนุมกันแสดงปฏิกิริยาประท้วงการจับกุมผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างตึงเครียด ในส่วนของภูมิภาคการขับเคลื่อนสนับสนุนการชุมนุมของนักศึกษาก็ขยายวงกว้างออกไป โดยเริ่มจากจังหวัดที่เป็นที่ตั้งของมหาวิทยาของรัฐทุกจังหวัด

เวลา 20.00 น. สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยได้ออกแถลงการณ์ของรัฐบาลระบุว่าบุคคล ทั้ง 13 คนที่ถูกตำรวจจับกุมมีแผนล้มล้างรัฐบาล และเหตุผลในการจับกุม "ไม่ใช่เพราะเรียกร้องรัฐธรรมนูญ แต่จับกุมในฐานะมีการกระทำอันเป็นภัยต่อความสงบสุขของพี่น้องประชาชน"


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 5-11 ธันวาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย" กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520 ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น. จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนต...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่าย กระทิงแดง ยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบ...