เสียงเพลงก้องฟ้า "สู้ไม่ถอย":
ถนนทุกสายมุ่งสู่ธรรมศาสตร์
ถนนทุกสายมุ่งสู่ธรรมศาสตร์
เช้าวันที่ 10 ตุลาคม นิสิตนักศึกษาจากสถาบันในเขตกรุงเทพฯ รวมทั้งนักเรียนระดับอาชีวศึกษาทั้งช่างกลและช่างก่อสร้าง รวมทั้งนักศึกษาจากวิทยาลัยครูพระนคร วิทยาลัยครูบ้านสมเด็จเจ้าพระยา วิทยาลัยครูธนบุรี ทยอยเข้าสมทบการชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในขณะที่ตัวแทนจากวิทยาลัยครูสวนสุนันทาและวิทยาลัยวิชาการศึกษา มาแจ้งว่ากำลังส่วนใหญ่อยู่ในระหว่างเดินทาง
นับเป็นครั้งแรกที่นักเรียนอาชีวะประกาศตัวเข้ามามีส่วนร่วมในการต่อสู้ทางการเมือง
เวลา 10.30 น. จอมพลถนอม กิตติขจร จัดแถลงข่าวว่ามีการพบเอกสารล้มล้างรัฐบาลและโปสเตอร์ที่ไม่ได้มุ่งหมายจะเรียกร้องรัฐธรรมนูญอย่างเดียว รวมทั้งเอกสารของพรรคคอมมิวนิสต์ จึงตั้งข้อหาเพิ่มในฐานะความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงต่อรัฐ และมีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์
ช่วงบ่าย ตัวแทนนักเรียนนิสิตนักศึกษาขึ้นเวทีที่บริเวณลานโพธิ์ ประกาศงดการเข้าสอบประจำภาคทุกสถาบัน โดยจะยืนหยัดเรียกร้องจนกว่าผู้ถูกจับกุมทั้ง 13 คนจะได้รับความเป็นธรรม สลับกับการร้องบทเพลงแห่งการต่อสู้ "สู้ไม่ถอย" ที่แต่งโดย นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล หนึ่งในแกนนำนักศึกษาบนเวทีปราศรัยในเวลานั้น ในเวลาต่อมาเพลงนี้กลายเป็นประวัติศาสตร์สำหรับการต้อสู้เรียกร้อง ประชาธิปไตยและความเป็นธรรมสืบเนื่องมาอีกหลายปี ซึ่งมีเนื้อร้องว่า
"สู้เข้าไปอย่าได้ถอย
มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู
พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม
เราเดินเคียงบ่าเคียงไหล่
ก้าวเดินไปด้วยใจมุ่งมั่น
เขาจะฟาด เขาจะฟัน
เราไม่พรั่น พวกเราสู้ตาย
สู้เข้าไปอย่าได้หนี
เพื่อเสรีภาพอันยิ่งใหญ่
รวมพลังผองเราเหล่าชาวไทย
สู้ขาดใจพวกเราเสรีชน"
มวลชนคอยเอาใจช่วยอยู่
รวมพลังทำลายเหล่าศัตรู
พวกเราสู้เพื่อความยุติธรรม
เราเดินเคียงบ่าเคียงไหล่
ก้าวเดินไปด้วยใจมุ่งมั่น
เขาจะฟาด เขาจะฟัน
เราไม่พรั่น พวกเราสู้ตาย
สู้เข้าไปอย่าได้หนี
เพื่อเสรีภาพอันยิ่งใหญ่
รวมพลังผองเราเหล่าชาวไทย
สู้ขาดใจพวกเราเสรีชน"
ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง เมื่อจอมพลถนอมได้รับรายงานว่าจำนวนนักเรียนนิสิตนักศึกษาที่เดินทางเข้าร่วมการชุมนุมเพิ่มจำนวนยิ่งขึ้นทุกที และบรรยากาศเต็มไปด้วยความเร่าร้อน จึงตัดสินใจเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเป็นกรณีฉุกเฉินขึ้นที่ศูนย์ปฏิบัติการ กองทัพบก สวนรื่นฤดี อันเป็นที่ตั้ง กองอำนวยการปราบปรามคอมมิวนิสต์ (กอ.ปค.) บรรยากาศการประชุมเป็นไปอย่างเคร่งเครียด และมีมติแต่งตั้งจอมพลประภาส จารุเสถียร รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นผู้อำนวยการรักษาความสงบ พร้อมทั้งแม่ทัพสามเหล่าทัพและนายทหารระดับสูงในส่วนกลางทยอยเข้าไปรับนโยบายและคำสั่งจากศูนย์ปราบปรามจลาจล
คณะทนายแห่งสโมสรเนติบัณฑิตยสภาได้ แจ้งการสนับสนุนมายังศูนย์นิสิตฯ และสำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่าจำนวนผู้ชุมนุมในเวลาประมาณ 20.30 น. นั้น เกิน 20,000 คนแล้ว จำเป็นต้องย้ายเวทีไปสนามฟุตบอลหน้าตึกโดมหรือที่ในเวลานั้นเป็นที่ตั้งและเป็นที่เรียกกันติดปากว่า "ตึกสภานักศึกษา"
และแล้วจากช่วงเช้าตรู่ของวันที่ 11 ตุลาคม 2516 เป็นที่ชัดเจนว่านิสิตนักศึกษาและนักเรียนทั่วประเทศ มีฉันทานุมัติสนับสนุนและเข้าร่วมการประท้วงรัฐบาลถนอม-ประภาส ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล รวมทั้งข่าวนิสิตเกษตรฯ ประมาณ 5,000 คนประกาศงดสอบกลางคันและเดินทางไปร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยความร่วมมือของทางมหาวิทยาลัย ประมาณ 12.00 น. นักเรียนอาชีวะทั้งช่างกลและช่างก่อสร้างหลายสถาบันก็มาถึงสนามฟุตบอลธรรมศาสตร์ มีการประกาศต่อที่ชุมนุมว่า จอมพลประภาส อธิบดีกรมตำรวจ ไม่ยอมตกลงใด ๆ ทั้งสิ้น คณะกรรมการบริหารศูนย์นิสิตฯ ซึ่งเข้ารับผิดชอบในการเป็นผู้ประสานงาน จัดประชุมกันที่สโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร มีมติให้รณรงค์ต่อไปด้วยวิธี "อหิงสา" และหากจำเป็นก็จะใช้มาตรการขั้นสุดท้ายคือ "เดินขบวน"
จอมพลประภาสประกาศกร้าวในการแถลงต่อหนังสือพิมพ์ที่วังปารุสกวันว่าพบหลักฐาน เอกสารกำหนดการที่จะเรียกร้องระดมชักชวนให้ประชาชนกระด้างกระเดื่องต่อ รัฐบาลและล้มล้างรัฐบาล จึงต้องควบคุมไว้ต่อไป ประมาณกันว่าช่วงเย็นวันนั้น จำนวนผู้ชุมชนต่อต้านเพิ่มมากขึ้นมากกว่า 6 หมื่นคน และร้อยละ 20 เป็นประชาชนทั่วไปทุกระดับชั้น
เที่ยงวันที่ 12 ตุลาคม ศูนย์นิสิต ฯ ออกแถลงการณ์ ให้ปลดปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คนภายใน 24 ชั่วโมง นับตั้งแต่เที่ยงวันที่ 12 ตุลาคม 2516 ถ้าไม่ได้รับคำตอบจากรัฐบาลเป็นที่น่าพอใจ จะใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด ส่งผลให้ในเวลาประมาณ 14.00 น. จอมพลถนอมได้เรียกประชุมฉุกเฉินคณะรัฐมนตรีอีกครั้งหนึ่ง ที่กองบัญชาการปราบปรามจลาจล สวนรื่นฤดี ที่ประชุมได้ตกลงในหลักการให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้ง 13 คนได้โดยมีการประกันตัว ส่วนข้อกล่าวหากบฏและคอมมิวนิสต์นั้น ให้ไปต่อสู้กันในชั้นศาล
เวลา 22.00 น. ศูนย์นิสิตฯ ออกแถลงการณ์ด่วนไม่ยอมรับข้อเสนอของรัฐบาล ถือว่าเป็นการบิดเบือนเป้าหมายของการชุมนุมที่ให้ปล่อยผู้ต้องหาทั้งหมด อย่างไม่มีเงื่อนไข หลังจากนั้นในเวลา 00.15 น. ของวันเสาร์ที่ 13 ตุลาคม ผู้ต้องหาทั้ง 13 คนออกแถลงการณ์จากที่คุมขัง ไม่ยอมรับเงื่อนไขการประกันตัว จากนั้นในเวลา 03.50 น. ศูนย์ นิสิตฯ และพ่อแม่ญาติพี่น้องของผู้ต้องหา ก็แถลงยืนยันจะไม่ประกันตัวผู้ต้องหา และผู้ต้องหาจะไม่ออกจากที่คุมขังเป็นอันขาด หากไม่มีตัวแทนจากศูนย์นิสิตฯ ไปรับตัว
เป็นอันว่า ถึงตอนนั้นฝ่ายชุมนุมเรียกร้องให้ปล่อยตัว "13 กบฏรัฐธรรมนูญ" หมดความเชื่อมั่นในรัฐบาลคณะปฏิวัติ หรือเรียกให้ถูกว่าคณะรัฐประหารโดยสิ้นเชิงแล้ว ยิ่งเวลาผ่านไปจำนวนผู้เข้าร่วมชุมนุมก็เพิ่มขึ้น และนับจากเวลา 08.00 น. ผู้เดินทางเข้ามาสมทบอย่างต่อเนื่องนับจากวันที่ 11 ก็ล้นทะลักออกนอกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปจนถึงท้องสนามหลวงเป็นจำนวนหลายหมื่นคน
รัฐบาลเริ่มวางกำลัง ตั้งแนวรับการเดินขบวนของผู้ชุมนุม ทั้งที่กองบัญชาการสวนรื่นฯ และที่ทำเนียบรัฐบาล หน่วยปราบจลาจลยกกำลังเข้าตรึงทำเนียบเอาไว้อย่างแน่นหนา ตั้งแต่เช้า ประตูทำเนียบถูกล่ามโซ่ปิดตาย พร้อมกับเตรียมรถดับเพลิงติดหัวฉีดแรงสูง.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 12-18 ธันวาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น