24 ชั่วโมง 13 ตุลาคม 2516:
สถานการณ์มีแต่ความสับสน
สถานการณ์มีแต่ความสับสน
13 ตุลาคม 2516 แกนนำผู้ปฏิบัติการในการชุมนุมของนิสิตนักศึกษามีมติเคลื่อนไหวเป็นฝ่ายรุกต่อรัฐบาล หลังจากไม่มีทีท่าในทางบวกในกรณีจับกุม 13 ผู้เรียกร้องรัฐธรรมนูญ โดยเริ่มจากเวลา 09.30 น. ที่ประชุมคณะกรรมการบริหารศูนย์นิสิตฯ มีมติแบ่งหน้าที่เป็น 3 ชุด ชุด ที่ 1 นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล และตัวแทนศูนย์นิสิตฯส่วนหนึ่ง ไปเจรจากับรัฐบาลเป็นครั้งสุดท้าย ชุดที่ 2 เลขาธิการศูนย์ฯ นำคณะไปขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระตำหนักจิตรลดาฯ ชุด ที่ 3 นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุลและผู้ร่วมทีม ทำหน้าที่ในการควบคุมการเคลื่อนไหวของขบวนนักเรียน นิสิตนักศึกษาโดยขบวนจะเคลื่อนออกจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
เวลาประมาณ 10.00 น. เจ้าหน้าที่ศูนย์นิสิตและอาสาสมัครนักเรียนนิสิตนักศึกษาจากทุกสถาบัน จัดเตรียมอุปกรณ์ที่ใช้ในการเดินขบวน คือ ธงชาติ ธงเสมาธรรมจักร หมวกกันแดด หมวกพลาสติกสำหรับป้องกันแก๊สน้ำตา พระบรมฉายาลักษณ์ของทั้งสองพระองค์ อุปกรณ์แสง-เสียงและเครื่องปั่นไฟ เครื่องเวชภัณฑ์ และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ รวมทั้งเสบียงอาหารและน้ำ นอกจากนั้นยังเตรียมรถบรรทุกเล็กประมาณ 15 คันพร้อมระบบกระจายเสียงบนหลังคาเพื่อนำขบวน ซึ่งในเวลาไล่เลี่ยกัน นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง 6,000 คน ก็เดินทางมาสมทบ
ส่วนคณะของนายประสาร ไตรรัตน์วรกุล นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ และกรรมการศูนย์ อีก 2 คน ได้เข้าพบจอมพลประภาส จารุเสถียร ที่สวนรื่นฯ ซึ่งจอมพล ประภาสได้เสนอร่างสัญญา รัฐบาลจะปล่อยตัว 13 ผู้ต้องหา หากทางศูนย์ฯ สัญญาว่าจะหาทางให้ฝูงชนสลายตัวโดยเร็วที่สุด ผู้แทนทั้งสามได้ทักท้วงให้เติมคำว่า "โดยไม่มีเงื่อนไข" หลังคำว่า "ปล่อยตัว" จอมพลประภาสก็เติมข้อความให้ในสัญญา สำหรับเรื่องรัฐธรรมนูญจอมพลประภาสตอบว่าจะร่างให้เสร็จก่อนเดือนตุลาคม 2517
หลังการเจรจาในเวลา 11.30 น. ผู้บังคับการกรมตำรวจสันติบาลเตรียมการนำตัวผู้ต้องหา 12 คน ซึ่งได้รับการประกันตัว จากที่ควบคุมที่โรงเรียนพลตำรวจ บางเขน มาปล่อยตัวที่กองบังคับกรมตำรวจสันติบาล ปทุมวัน แต่ทั้งหมดไม่ยอมรับการประกันตัวและไม่ยอมขึ้นรถ คงอยู่ที่หน้าตึกที่คุมขังในบริเวณศูนย์ฝึกฯ นั่นเอง เพราะยังไม่มีการประสานกับที่ชุมนุม อาจทำให้เกิดความระส่ำระสายได้ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ใช้หน่วยคอมมานโดขับไล่ทั้ง 12 คน ออกมาจับกลุ่มกันอยู่ที่หน้าประตูศูนย์ฝึกตำรวจนครบาลบางเขน และไม่ยอมเคลื่อนที่ไปไหน
ระหว่างที่กลุ่มผู้ชุมนุมตั้งขบวนและเคลื่อนขบวนออกจากประตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ด้านสะพานพระปิ่นเกล้า โดยมีหน่วยรักษาความปลอดภัยที่ประกอบด้วยนักศึกษาอาชีวะจากหลายสถาบัน นาย สมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เดินทางกลับมาแจ้งว่าได้ติดต่อกับเลขาธิการสำนักพระราชวังแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตัวแทนนักศึกษาเข้าเฝ้าได้
เมื่อขบวนเคลื่อนมาถึงที่ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย โฆษกประจำศูนย์ฯ เริ่มอภิปรายท่ามกลางฝูงชนที่มาร่วมชุมนุมกันในบริเวณนั้น ประมาณ 5 หมื่นคน นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการศูนย์ฯ ให้ประกาศว่า "มาตรการ ขั้นเด็ดขาดมิใช่นั่งอยู่ในอนุสาวรีย์หลายๆ วันอย่างที่เคยทำมาแล้วในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่จะหยุดดูท่าทีของรัฐบาลเพียงสองชั่วโมงเท่านั้น ห้าโมงตรงถ้ายังไม่มีคำตอบใดๆ จากรัฐบาล ขบวนจะเคลื่อนต่อไป"
เวลา ประมาณ 16.30 น. นายสมบัติ ธำรงธัญญวงศ์ เลขาธิการศูนย์ฯ และกรรมการศูนย์ฯ เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อ กราบบังคมทูลถึงเป้าหมายในการต่อสู้ของนักเรียนนิสิตนักศึกษาและข้อเรียกร้อง ซึ่งทราบว่ารัฐบาลได้ยินยอมแล้ว ขณะที่ขบวนนักเรียนนิสิตนักศึกษาเคลื่อนไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า เนื่องจากยังไม่มีข่าวจากกรรมการศูนย์ฯ แต่ทางฝ่ายเลขาฯและกรรมการศูนย์มองว่าเป็นการกระทำที่ขัดกับข้อตกลงกับกรรมการศูนย์ฯ ที่ให้ควบคุมฝูงชนไว้บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย จนกว่าพวกที่เข้าเฝ้าจะกลับ
เวลา 17.30 น. กรรมการศูนย์นิสิตฯ เดินทางไปสวนรื่นฯ เพื่อลงนามในสัญญากับรัฐบาล จากนั้นนายสมบัติได้แยกไปรับตัว 13 ผู้ต้องหามายืนยันว่ารัฐบาลปล่อยตัวโดยไม่มีเงื่อนไข และช่วงเวลาข่าวภาคค่ำ สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยออกแถลงการณ์ปล่อยตัวผู้ถูกจับกุมทั้ง 13 คนโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ และจอมพลประภาส จารุเสถียร ได้ให้คำรับรองว่าจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม 2517
ถัดมา 20.30 น. นายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง นายกสโมสรนิสิตจุฬาฯ นายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ไปถึงรถบัญชาการศูนย์ฯ บอกให้ทราบว่าขณะนี้ได้รับพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและ กำลังอัญเชิญมาแจ้งแก่ผู้ชุมนุม พร้อมกับสัญญาที่ทางศูนย์ฯ ทำกับรัฐบาลแล้ว กรรมการศูนย์ฯ บนรถบัญชาการได้แจ้งข้อตกลงกับรัฐบาลให้นายเสกสรรค์ทราบ
แต่เมื่อนายสมบัติขึ้นประกาศบนรถบัญชาการซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ว่า รัฐบาลจะร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายในเดือนตุลาคม 2517 กลุ่มผู้ชุมนุมก็แสดงความไม่พอใจ และมีการตะโกนออกมาว่า "ไม่เอา... ไม่เอา... ต้องการรัฐธรรมนูญเร็วกว่านั้น" และปฏิกิริยาของผู้ชุมนุมก็ควบคุมไม่ได้ยิ่งขึ้น เมื่อนายสมบัติเป็นลมหมดสติเสียก่อนที่จะพูดอะไรต่อไป
ต่อมาในเวลา 22.00 น. กรมประชาสัมพันธ์ได้อ่านแถลงการณ์ของรัฐบาล ออกอากาศทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย และเครือข่ายวิทยุกรมประชาสัมพันธ์ ว่า ทางรัฐบาลยอมปล่อยตัวผู้ต้องหา ทั้ง 13 คนอย่างไม่มีเงื่อนไขแล้ว อย่าให้มีการก่อกวนความสงบ ถ้ามีจะถือว่าผู้นั้นไม่ไช่นักเรียน นิสิต นักศึกษา แต่เป็นฝ่ายตรงข้ามที่พยายามก่อกวน
ในเวลาเดียวกัน นายเสกสรรค์แถลงทางเครื่องกระจายเสียงว่า ขอให้กรรมการศูนย์ฯ มาพบเพื่อประมวลข่าวต่างๆ ชี้แจงให้เพื่อนนิสิตนักศึกษา นักเรียน และประชาชนทราบ เพราะฝ่ายปฏิบัติการไม่อาจจะควบคุมผู้ชุมนุมไว้ได้ ในเวลาประมาณ 00.30 น. ของวันที่ 14 ตุลาคม เมื่อไม่สามารถติดต่อกับทางศูนย์นิสิตฯได้ และไม่อาจทัดทานมติของชุมนุมได้ นายเสกสรรค์จึงตัดสินใจประกาศเคลื่อนขบวนไปที่พระตำหนักจิตรลดารโหฐานเพื่อขอพึ่งพระบารมีปกเกล้าฯ หลังจากจัดรูปขบวนแล้ว กลุ่มผู้ชุมนุมร่วมกันร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี
เวลา 22.45 น. นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล ได้พบกับ นายธีรยุทธ บุญมี และสามารถทำความเข้าใจกันระหว่างผู้ปฏิบัติการในที่ชุมนุมกับทางตัวแทนศูนย์ นิสิตฯ แล้ว จากนั้นนายธีรยุทธก็ประกาศว่าจะพานายเสกสรรค์ไปขอเข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 19-25 ธันวาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
สงวนลิขสิทธิ์ตาม พระราชบัญญัติลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น