ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (41)

การลุกขึ้นสู้ 14 ตุลาคม 2516:
วิญญาณเสรีชนตื่นขึ้นแล้ว


ดูเหมือนสถานการณ์น่าจะคลี่คลายไปสู่ความสงบเรียบร้อย เมื่อในเวลาประมาณ 04.30 น. พ.ต.อ.วสิษฐ์ เดชกุญชร ได้อันเชิญพระบรมราโชวาทของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาอ่าน ความว่า

"คนที่เป็นผู้ใหญ่ (คนเก่า) นั้นเขามีประสบการณ์ ส่วนคนหนุ่มสาวมีพลังแรงทั้งร่างกายและทั้งความคิด ถ้าหากมาปรองดองสมัครสมานกัน ทำงานอย่างพร้อมเพียงไม่ผิดใจแคลงใจกัน การบ้านการเมืองก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี นิสิตนักศึกษาก็เป็นผู้ที่ผ่านการทดสอบเลือกเฟ้นมาเป็นที่แน่นอนแล้วว่ามีทั้งสติและปัญญาพร้อมมูล จึงควรจะได้รู้ถึงความคิดผิดชอบชั่วดีทุกอย่าง เมื่อนิสิตนักศึกษาได้ดำเนินการมาตรงเป้าหมาย และได้รับผลตามสมควรแล้ว ก็ขอให้กลับคืนสู่สภาพปรกติเพื่อยังความสงบเรียบร้อยให้เกิดแก่ประชาชนทั่วไป"

จากนั้น พ.ต.อ.วิสิษฐ์ เดชกุญชร และนายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล รวมทั้งกรรรมการศูนย์นิสิตฯ อีกหลายคนได้พูดต่อขอให้ฝูงชนแยกย้ายกลับบ้าน และประกาศให้ทุกคนหันหน้าไปทางพระตำหนักจิตรลดาฯ ร่วมร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี แล้วฝูงชนก็เริ่มสลายตัวในเวลา 06.00 น.

เหตุการณ์ที่นำไปสู่สถานการณ์ที่ฝ่ายรัฐบาลประกาศว่าเป็น "การจลาจล" เริ่มต้นในช่วงนี้เอง ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมบริเวณหน้าพระตำหนักสวนจิตรฯ ด้านถนนพระราม 5 ซึ่งใช้เป็นที่ชุมนุมโดยสงบมาตลอดคืนวันที่ 13 ตุลาคม กำลังสลายตัวและแยกย้ายกันกลับ โดยส่วนด้านหน้ารถบัญชาการมุ่งหน้าไปสี่แยกดุสิตด้านถนนราชวิถี กลับถูกสกัดกั้นโดยหน่วยคอมมานโดของตำรวจนครบาลและกองบังคับการปราบปราม แม้นักเรียนอาชีวะหลายกลุ่มที่ทำหน้าที่รักษาความปลอดภัยรถบัญชาการจะร้องขอให้เปิดทาง แต่ตำรวจยังคงยืนกรานที่จะให้ถอยกลับไปออกทางเดิม ในขณะที่กลุ่มนักเรียน นิสิต นักศึกษาที่อยู่ด้านหลังก็ไม่รู้ว่าถูกตำรวจปิดกั้น ต่างพากันหนุนเนื่องเข้ามา ทำให้ด้านหน้าต้องประจันกับตำรวจอย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ทั้งนี้ พล.ต.ท. มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ไม่สั่งให้ตำรวจปราบปรามจลาจลเปิดแนวปิดกั้น เพราะ พล.ต.ท. ประจวบ สุนทรางกูร รองอธิบดีกรมตำรวจฝ่ายกิจกรรมพิเศษ ได้ออกคำสั่งไม่อนุญาตให้เปิดแนวปิดกั้นให้ประชาชนผ่าน

ประมาณ 20 นาทีต่อมา รถบัญชาการของศูนย์นิสิตฯ ได้เคลื่อนเข้ามาทางด้านหลังของฝูงชน ห่างจากแนวตำรวจประมาณ 50 เมตร โฆษกบนรถพูดชักชวนให้ประชาชนส่วนใหญ่เดินกลับบ้านทางด้านวัดเบญจมบพิตร มุ่งสู่สี่แยกพาณิชยการ แต่กลุ่มนักเรียนนักศึกษาไม่ยอมเสียแล้ว ตอนนี้เองได้เกิดการวุ่นวายกันขึ้น มีความพยามยามผลักดันคนซึ่งประจันหน้ากับแนวตำรวจด้านหน้า และเริ่มมีการว้างปาสิ่งของเท่าที่จะหาได้เข้าใส่แนวปิดกั้นของตำรวจ พล.ต.ท. มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น สั่งให้หน่วยคอมมานโดใช้กำลังเข้าต่อต้านพวกเดินขบวนได้ ถ้าหากเห็นว่าไม่สามารถจะยับยั้ง การผลักดันและการขว้างปาของประชาชนได้ ในที่สุดกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจหน่วยปราบปรามทั้งหมดได้ใช้ไม้กระบองและโล่ เข้าตีและดันกลุ่มผู้เดินขบวนให้ถอยร่นไป โดยจัดแถวเป็นรูปหัวหอกพร้อมกับตีและดันไปข้างหน้าโดยไม่เลือกว่าจะเป็นชาย หญิง หรือเด็ก ในขณะเดียวกัน กำลังเจ้าหน้าที่ในแนวหลังก็ได้รับคำสั่งให้ยิงแก๊สน้ำตาเข้าใส่ฝูงชนที่ประจันหน้ากันอยู่นั้น ทำให้ฝูงชนส่วนใหญ่ต้องถูกดันถูกตี สำลักแก๊สน้ำตาแตกกระจายโดดลงคูน้ำทั้งสองข้างทาง

เจ้าหน้าที่ทหารตำรวจที่ทำหน้าที่รักษาการณ์เขตพระราชฐานได้ออกมาให้ความช่วยเหลือ เปิดทางให้ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บและถูกแก๊สน้ำตา เข้าไปในพื้นที่รอบนอกนอกของพระตำหนักฯ ระหว่างนั้นมีกระสุนไล่หลังจากเครื่องยิงระเบิดแก๊สน้ำตาข้ามรั้วไปตกในเขตพระตำหนักจิตรลดาฯหลายลูก

ถึงตอนนี้ ด้วยความโกรธแค้นของนักเรียนนักศึกษาและประชาชนที่ถูกเจ้าหน้าที่ใช้กำลังอาวุธปราบจลาจลเข้าทำร้าย หันหน้ามารวมกำลังกันอย่างเหนียวแน่น พยายามต่อสู้กับตำรวจด้วยอาวุธเท่าที่พอจะหาได้ เช่น ก้อนหิน ไม้ เป็นต้น การปะทะใช้เวลาประมาณ 15 นาที จนถึงเวลาประมาณ 06.45 น. กำลังของนักเรียนนิสิตนักศึกษาประชาชนส่วนใหญ่จึงถอยร่นไปรวมกันที่ลานพระบรมรูปทรงม้า และมีส่วนหนึ่งเดินทางไปที่ธรรมศาสตร์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ศูนย์นิสิตฯ บางส่วนกับเจ้าหน้าที่ขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคงตั้งอยู่เพื่อรักษาพื้นที่การชุมนุมไว้

หลังจากมีการตรวจสอบกันได้ความแน่ชัดแล้วว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้ความรุนแรงเข้าสลายกลุ่มผู้ชุมนุมที่กำลังจะแยกย้ายกันกลับบ้านตามข้อตกลงในคืนที่ผ่านมา ได้สร้างความเดือดแค้นให้แก่นักเรียนนักศึกษาในมหาวิทยาลัยและประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งออกมาติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวเพิ่มจำนวนยิ่งขึ้นทุกที มีการประกาศให้ฝูงชนที่แตกกระจายจากบริเวณสวนจิตรฯ รวมทั้งที่ทยอยกลับบ้านไปบ้างแล้ว ไปรวมกันที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการนี้ทางศูนย์นิสิตได้ใช้รถบรรทุกเล็กหรือรถปิกอัพ ที่เตรียมไว้สำหรับการเดินขบวน ออกกระจายเสียงไปตามที่ชุมชนในเขตกรุงเทพฯ หลายแห่ง และมีขบวนรถมอเตอร์ไซค์ของนักเรียนนักศึกษา ตลอดจนประชาชนทั่วไปที่รักความเป็นธรรมและรักประชาธิปไตย มาเป็นอาสาสมัครกระจายข่าวและระดมคนเข้าร่วมการต่อต้านรัฐบาล

เวลาประมาณ 08.30 น. นักเรียน นิสิต นักศึกษา และประชาชนประมาณ 5 พันคน ซึ่งมารวมตัวกันอยู่บริเวณลานพระบรมรูปทรงม้าตั้งแต่เช้า ตัดสินใจออกเดินมุ่งไปมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่แล้วกลับไปติดอยู่ที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศ ซึ่งเป็นที่ตั้งกองบัญชาการตำรวจนครบาลในเวลนั้น มีการขว้างปาไม้และก้อนหินเข้าไปยังกองบัญชาการตำรวจนครบาล

ส่วนบริเวณหน้ากรมประชาสัมพันธ์ก็มีนักศึกษาประชาชนชุมนุมกันหลายพันคน โดยผู้ชุมนุมจำนวนหนึ่งพากันบุกเข้าไปภายในกรมประชาสัมพันธ์ และสำนักงานคณะกรรมการตรวจและติดตามผลการปฏิบัติราชการ (กตป.) สี่แยกคอกวัว ซึ่งปัจจุบันคือที่ตั้ง "อนุสรณ์สถาน 14 ตุลาคม 2516" รวมทั้ง อาคารสำนักงานสลากกินบางรัฐบาล เชิงสะพานปิ่นเกล้า โดยที่ฝูงชนเห็นว่าเป็นแหล่งมอมเมาให้ติดอยู่กับการเสี่ยงโชค

ประมาณ 09.00 น. พ.อ.ณรงค์ กิตติขจร ขึ้นเฮลิคอปเตอร์ตรวจการณ์ในบริเวณท้องสนามหลวง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถนนราชดำเนินกลาง และหน้ากรมประชาสัมพันธ์ แล้วรายงานข่าวโดยตรงมาถึงจอมพลถนอมและจอมพลประภาส บ่งชี้ว่า มีการซ่องสุมอาวุธและผู้คนไว้ใต้ตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตามแผนของคอมมิวนิสต์ จากนั้นในเวลา 09.30 น. รัฐบาลออกอากาศแถลงการณ์ว่า "พวกก่อการจลาจล (พกจ.)" บุกรุกเขตพระราชฐาน และทำร้ายตำรวจ

การออกข่าวและประกาศของฝ่ายรัฐบาลที่มีลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริง เป็นการเพิ่มทวีความโกรธแค้นของกลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่ในเหตุการณ์ช่วงเช้าตรู่มากยิ่งขึ้น ในเวลาเดียวกันมีประชาชนที่ไม่เชื่อถือจากการฟังข่าวด้านเดียวจากทางรัฐบาล เริ่มทยอยกันออกจากบ้านเพื่อจะได้เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง โดยมีจำนวนมากขึ้นทุกที

เกือบทั้งหมดเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาลถนอม-ประภาส-ณรงค์ ไปโดยปริยาย

ในจำนวนนั้น คือผู้ซึ่งซึ่งพลีชีพในเหตุการณ์เรียกร้องรัฐธรรมนูญและประชาธิปไตย และปัจจุบันได้รับการเชิดชูเป็นหนึ่งในวีรชน 14 ตุลาฯ ลำดับต้น ที่ปลุกเร้าวิญญาณเสรีชนแก่นักเรียนนิสิตนักศึกษาและประชาชนในเวลานั้น คือ นายจีระ บุญมาก นักศึกษาปริญญาโทสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ที่เดินทางมาแจกส้มให้นักเรียนช่างกล บอกว่าทหารเขามาทำตามหน้าที่ ให้ใจเย็น อย่าทำอะไรรุนแรง จากนั้นก็ถือธงชาติเดินเข้าหาทหาร ขอร้องว่าทหารอย่าทำร้ายเด็กนักเรียนที่ไม่มีอาวุธ แล้วหยิบส้มที่เตรียมมาโยนให้ทหารกิน ทหารที่ระวังอยู่เข้าใจว่านายจีระจะทำร้าย จึงยิงปืนใส่ เสียชีวิตทันที.


แก้ไขปรับปรุง จากการพิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข
วันที่ 26 ธันวาคม 2552 - 1 มกราคม 2553

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย" กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520 ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น. จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนต...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่าย กระทิงแดง ยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบ...