กบฏกับเมฆทมึนปกคลุมสยาม
จุดบรรจบที่สงครามกลางเมือง
ในฝ่ายที่ยังคงจงรักภักดีต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและระบอบการปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ เริ่มเคลื่อนไหวโดยมีการประชุมหารืออยู่บ่อยครั้ง แต่การเคลื่อนไหวดังกล่าวหาได้เล็ดรอดไปจากการเฝ้าสังเกตจับตาโดยคณะราษฎรแต่อย่างใด และเพื่อเป็นการปรามแนวคิดที่จะก่อการยึดอำนาจคืนจากคณะราษฎร พันโท หลวงพิบูลสงคราม ทำหนังสือไปถึงคณะบุคคลที่กำลังเคลื่อนไหวกันอย่างเป็นความลับนั้น ดังมีใจความว่า
"..... ในฐานะที่ข้าพเจ้าเป็นผู้รับผิดชอบรักษาความสงบเรียบร้อย จึงขอเตือนให้ท่านจงสงบจิตสงบใจ หากท่านยังจุ้นจ้านอีก คณะราษฎรตกลงจะทำการอย่างรุนแรง และจำต้องถือเอาความสงบของบ้านเมืองเป็นกฎหมายสูงสุดในการทำแก่ทาน ที่กล่าวมานี้มิใช่เป็นการขู่เข็ญ แต่เป็นการเตือนมาด้วยความหวังดี"
คำขาดที่ว่านี้มีไปถึงบุคคลที่คิดก่อการ ดังเช่น พระองค์ เจ้าบวรเดช, พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์, หม่อมเจ้าวงศ์ เนรชร, หม่อมเจ้าไขแสง ระพีพัฒน์, หม่อมเจ้าโสภณ ภาราไดย์, พระยาอธิกรณ์ประกาศ (หลุย จาติกวณิช), พระศราภัยพิพัฒน์ (เลื่อน ศราภัยวานิช) ทุกพระองค์และทุกคนพากันเข้าพบหลวงพิบูลสงคราม และหลวงศุภชลาศัย ที่วังปารุสกวันเพื่อเคลียร์ตัวเอง เว้นพระองค์เดียว คือ พระองค์เจ้าบวรเดช ทั้งยังคงเดินทางไปๆมาๆระหว่างกรุงเทพฯและจังหวัดนครราชสีมา อย่างไม่ใส่ใจต่อคำขาดจากผู้รับผิดชอบในการรักษาความสงบจากฝ่ายคณะราษฎร
นั่นคือสัญญาณเตือนว่าฝ่ายก่อการฟื้นระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ไม่หยุดการเคลื่อนไหว ทั้งนี้การรวมตัวกันนั้น ใช้ชื่อเรียกว่า "คณะกู้บ้านเมือง" ซึ่งประกอบด้วยบุคคลระดับหัวหน้า ดังนี้ พล เอก พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช กฤดากร อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม พลตรี พระยาเสนาสงคราม (หม่อมราชวงศ์อี๋ นพวงศ์) พลตรี พระยาทรงอักษร (ชวน ชวนะลิขิกร) พันเอก พระยาจินดาจักรรัตน์ (เจิม อาวุธ) พันเอก พระยาฤทธิรงค์รณเฉท (ทองคำ ไทยไชโย) และหัวเรี่ยวหัวแรงคนสำคัญคือ พันเอก พระยาศรีสิทธิสงคราม (ดิ่น ท่าราบ) สหายสนิทของพระยาพหลฯ และพระยาทรงสุรเดชเอง
วันที่ 3 ตุลาคม 2476 "คณะกู้บ้านเมือง" ก็ลอบออกเดินทางไปรวมตัวพร้อมหน้ากันที่นครสวรรค์ ผู้ก่อการวางแผนเข้ายึดนครราชสีมาอย่างสายฟ้าแลบ โดยใช้หน่วยทหารที่ยังจงรักภักดีต่อพระองค์เจ้าบวรเดช นอกจากนั้นยังพยายามระดมทหารจากหัวเมือง เช่น อุบลราชธานี เข้าร่วมด้วย แต่ผู้บังคับบัญชาและคุมกำลังส่วนใหญ่หัวเมืองต่างๆเกิดการไหวตัว เพราะเชื่อว่าพวกอาจจะถูกใช้เป็นเครื่องมือ
ช่วงวันที่ 8-10 ตุลาคม ฝ่ายกบฏมีการเคลื่อนย้ายกำลังพลโดยผ่านทางหัวหน้าคนสำคัญ 2 คน คือ พระยาศรีสิทธิสงครามสั่งการให้ทหารช่างจากอยุธยาเข้ายึดดอนเมือง พร้อมกับกำลังทหารมาจากสระบุรีภายใต้การนำของพันเอกพระยาฤทธิรงค์รณเฉท
จากนั้นการปฏิบัติการก็เริ่มต้นในเวลาประมาณ 14.00 น. ของวันที่ 11 ตุลาคม 2476 โดยกองกำลังผสมที่ประกอบด้วยทหารจากนครราชสีมา อุบลราชธานี สระบุรี และอยุธยา เคลื่อนกำลังเข้ายึดสถานีรถไฟบางเขน และดอนเมือง
ทันทีที่ได้รับรายงานการเคลื่อนกำลังเข้ายึดพื้นที่เป้าหมายของฝ่ายกบฏ ฝ่ายรัฐบาลก็เร่งจัดส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจไปทำการอารักขาบรรดาสถานทูตต่างๆไว้อย่างเข้มแข็ง รวมทั้งส่งกำลังทหารทหารไปให้ความอารักขาบุคคลสำคัญๆของรัฐบาลพระยามโนปกรณ์ฯ เช่น พระองค์เจ้าอลงกต พระองค์เจ้าทศศิริวงศ์ พระยาเทพหัสดินฯ ส่วนพระยาศราภัยพิพัฒน์ลอบหลบหนีไปก่อนเนื่องจากรู้ตัวดีว่าเป็นเป้าจับตาจากฝ่ายคณะราษฎรมาตั้งแต่มีข่าวการก่อกบฏ
ในตอนค่ำ รัฐบาลพระยาพหลฯ ได้ออกแถลงการณ์ให้ประชาชนได้ทราบทั่วประเทศ มีใจความว่า พระองค์ เจ้าบวรเดช พระยาศรีสิทธิสงคราม พระยาเทพสงคราม เป็นกบฏต่อแผ่นดิน และพยายามล้มล้างระบอบประชาธิปไตย ยกเลิกรัฐธรรมนูญ และสถาปนาการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง
ถัดมาในวันที่ 12 ตุลาคม 2476 เวลา 05.00 น. กำลังทหารช่างอยุธยาจึงยึดดอนเมืองได้ ส่วนกองระวังหน้าทหารโคคราชมาถึงสระบุรี และได้ส่งหมวดเฝ้าระวัง คุมเชิงที่สะพานข้ามคลองบางเขน ระหว่างสถานีบางเขนและหลักสี่ ถึงตอนนี้พระยาศรีสิทธิสงครามรู้สึกไม่พอใจเนื่องจากได้กำลังแค่ทหารช่าง 4 กองร้อยที่ไม่เต็มอัตราศึก มิหนำซ้ำการดำเนินการก็ล่าช้าไป 1 วันจากแผนเดิมที่วางไว้ และในเวลา 06.40 รถขบวนพิเศษที่มีพระองค์เจ้าบวรเดชประทับก็เข้าเทียบชานชาลาที่สถานีสระบุรี
เวลา 08.00 น. ตัวแทนของรัฐบาลที่ประกอบไปด้วย พันตรี หลวงเสรีเริงฤทธิ์ ร้อยโท ขุนไสวแสนยากร ร้อยโท ขุนปิยยรัตน์รณยุทธ์ และ นายดาบแสง จุลจาริตต์ เดินทางจากสถานีบางซื่อไปสถานีบางเขนด้วยรถโยกเพื่อเจรจากับฝ่ายกบฏ เมื่อไปถึงจากนั้นหลวงเสรีเริงฤทธิ์ได้เจรจากับหลวงลพบาดาลอยู่พักใหญ่ ซึ่งแจ้งว่ายินดีถอนทัพถ้าได้รับหนังสือรับรองว่าจะไม่เอาผิดที่ลงนามโดยพันโทหลวงพิบูลสงคราม ผู้บังคับการกองผสม เพื่อแลกกับการถอนทัพ พอกลับไปที่บางเขนอีกครั้ง ก็โดนทหารช่างปลดอาวุธกลายเป็นเชลยศึก แล้วถูกส่งไปจองจำที่กองพันทหารช่างอยุธยา
ฝ่ายรัฐบาลได้รวบรวมกำลังทหารในพระนคร จัดเป็นกองผสม มีทหารราบ 3 กองพัน ทหารม้า 1 กองพัน กับปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน ขึ้นอยู่กับการบังคับบัญชาของ พันโทหลวงพิบูลสงคราม เข้ายึดแนวสถานีบางซื่อ สนามเป้า สามเสน มักกะสัน
ในตอนบ่ายวันเดียวกันนั้น พวกกบฏได้ใช้เครื่องบินทำการบินเหนือพระนคร เพื่อเป็นการขู่ขวัญ และสืบการเคลื่อนไหว รัฐบาลได้ใช้ปืนต่อสู้อากาศยานยิงสกัด เวลาเดียวกัน นาวาโท พระแสงสิทธิการ ตัวแทนของฝ่ายกบฏ นำสาส์นจากพระยาศรีสิทธิสงครามมาส่งมอบต่อพระยาพหลฯ โดยมีใจความสำคัญว่า
"คณะรัฐมนตรีปล่อยให้คนดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ และเอาหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับมาเพื่อดำเนินการปกครองแบบคอมมิวนิสต์ จึงขอให้คณะรัฐบาลถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งภายใน 1 ชั่วโมง มิฉะนั้นจะใช้กำลังบังคับ และจะเข้ายึดการปกครองชั่วคราว จนกว่าจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งคณะรัฐมนตรีขึ้นใหม่ ซึ่งไม่มีนายทหารประจำการเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย"
คณะรัฐบาลเรียกประชุมเป็นการฉุกเฉินเพื่อพิจารณาข้อเสนอฝ่ายกบฏ โดยมีมติเห็นว่า รัฐบาลดำเนินการปกครองตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ทั้งยังประกาศยืนยันไม่นำเค้าโครงการเศรษฐกิจของหลวงประดิษฐ์ฯ มาใช้อย่างที่ฝ่ายกบฏพยายามโฆษณาชวนเชื่อ และข้อเสนอของพวกกบฏเป็นการใช้กำลังมาบีบรัฐบาล และเห็นควรต่อต้านปราบปรามพวกกบฏเหล่านี้
ดังนั้นรัฐบาลจึงทำการจับกุมพระยาแสงสิทธิการในฐานะสมคบกับพวกกบฏ.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 4-10 กันยายน 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น