ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (23)

ทหารเรือกู้ชาติ:
ผิดแผนแต่ไม่ยอมแพ้

หลังจากควันหลงการกวาดล้างปราบปรามกบฏวังหลวงค่อยจางลง ส่งผลให้สถานการณ์ทางการเมืองของไทยคืนสู่ความสงบเรียบร้อยอยู่ระยะหนึ่ง พร้อมกับประชาชนชาวไทยพากันใจจดใจจ่ออยู่กับพระราชพิธีสำคัญ เริ่มจากการที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงหมั้น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ธิดาเอกอัครราชทูตประจำราชสำนักเซนต์เจมส์ ประเทศอังกฤษ พลเอก พระวรวงศ์เธอกรมหมื่นจันทบุรีสุรนาถ (หม่อมเจ้านักขัตรมงคล กิติยากร) และหม่อมหลวงบัว กิติยากรเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2492 และเสด็จขึ้นสู่พระราชพิธีอภิเษกสมรส เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2493 ต่อมาวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นสู่พระราชพิธีบรมราชาภิเษก

ทว่าในท่ามกลางบรรยากาศที่ดูเหมือนจะเงียบสงบนั้นเอง กลับแฝงไปด้วยความปั่นป่วนที่ก่อตัวในลักษณะคลื่นใต้น้ำในฝ่ายทหารเรือ อันมีสาเหตุสืบเนื่อง 3 ประการ คือ

  1. ความตึงเครียดระหว่างทหารบกและตำรวจกับทหารเรือต่อเนื่องมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 โดยที่ทหารบกสนับสนุนจอมพล ป. พิบูลสงคราม ทหารเรือสนับสนุนนายปรีดี พนมยงค์ ส่วนตำรวจนั้นมีปัญหาการกระทบกระทั่งกับทหารเรือและกล่าวหาให้ร้ายอยู่เสมอ
  2. ทหารเรือเห็นว่า รัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ภายใต้การสนับสนุนของคณะรัฐประหาร 2490 มิได้บริหารราชการแผ่นดินเพื่อประโยชน์สุขของประชาชนอย่างแท้จริง ใช้วิธีเผด็จการ ที่สร้าง "รัฐตำรวจ" ขึ้นข่มขู่ประชาชน และกวาดล้างฝ่ายตรงข้ามอย่างทารุณและไร้มนุษยธรรม
  3. ความเสื่อมโทรมในกองทัพเรือนับภายหลังเหตุการณ์กบฏวังหลวง 26 กุมภาพันธ์ 2492 เพราะรัฐบาลไม่ไว้วางใจและจำกัดงบประมาณพัฒนาขีดความสามารถและอื่นๆลง เป็นต้นว่าตัดกำลังนาวิกโยธินลง

ประกอบกับข่าวสารที่ปรากฏทั่วไป ทั้งตามหน้าหนังสือพิมพ์ในขณะนั้น และหัวข้อพูดคุยทั่วไป มักจะมีข่าวพัวพันการทุจริตคอร์รัปชั่นของรัฐบาลอยู่เนืองๆ ทำให้นายทหารเรือหนุ่มกลุ่มหนึ่งที่นำโดย น.อ.อานนท์ ปุณฑริกาภา ผู้บังคับกองกำลังหมู่รบ น.ต.มนัส จารุภา ผู้บังคับการเรือรบหลวงรัตนโกสินทร์ บุตรของ พล.ร.ต.พระยาปรีชาชลยุทธ (วัน จารุภา) อดีตแม่ทัพเรือ น.ต.ประกาย พุทธารี กรมนาวิกโยธิน น.ต.สุภทร ตันตยาภรณ์ กรมนาวิกโยธิน นัดพบปะหารือกันเป็นการลับหลายครั้ง แล้วมีข้อสรุปเบื้องต้นตรงกันต้องการให้รัฐบาลเปลี่ยนแปลงคณะรัฐมนตรีและผู้นำรัฐบาลเสียใหม่ ทั้งนี้นายทหารสองนายจากกรมนาวิกโยธินสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนเสนาธิการทหารบก จึงมีโอกาสขยายวงต่อไปยังนายทหารอื่นๆในกองทัพบกและกองทัพอากาศ

กลุ่มก่อการคิดลงมือปฏิบัติการหลายครั้ง แต่มักมีเหตุสุดวิสัยทำให้ไม่อาจดำเนินแผนการยึดอำนาจได้ ครั้งแรก เป็นแผนจู่โจมควบคุมตัวจอมพล ป. และนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของกองทัพบกที่คุมกองกำลังสำคัญ ในระหว่างพิธีส่งทหารไปราชการสงคราม ณ ประเทศเกาหลี ที่บริเวณท่าเรือคองเตย วันที่ 22 ตุลาคม 2493 แต่แล้วก่อนวันปฏิบัติการเพียงหนึ่งวัน คณะผู้ก่อการหรือที่เรียกตนเองว่า "คณะกู้ชาติ" ได้รับแจ้งว่า ทหารนาวิกโยธินหน่วยที่ 4 และ 5 ไม่สามารถเคลื่อนกำลังออกจากที่ตั้งได้ จำเป็นต้องระงับแผนการทั้งหมดเป็นการด่วน และยังมาทราบภายหลังอีกด้วยว่า ความลับที่จะก่อการเกิดรั่วไหลผ่านทางนายทหารในสังกัดกรมสรรพาวุธทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารเรือจึงมีบัญชาให้หน่วยสารวัตรทหารเรือติดอาวุธรักษาการอย่างเข้มงวดเพื่อป้องกันเหตุร้าย

ตามมาด้วยวันที่ 26 พฤศจิกายน 2493 ในการแข่งขันรักบี้ฟุตบอลระหว่างทีมกองทัพบกกับทีมกองทัพเรือ มีนายทหารชั้นผู้ใหญ่ของสามเหล่าทัพไปร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงที่สนามศุภชลาศัยกรีฑาสถานแห่งชาติ ผู้ก่อการวางแผนที่จะจู่โจมควบคุมตัวบุคคลสำคัญต่างๆอย่างเช่นครั้งก่อน แต่ก่อนหน้าการแข่งขันเพียงสองชั่วโมง คือเวลาประมาณ 14.00 น. ก็ได้รับรายงานจากสายข่าวมาที่กองเรือรบว่า มีหน่วยกำลังจากโรงเรียนตำรวจปทุมวันประมาณสองกองร้อยติดอาวุธครบมือเคลื่อนตัวไปตามถนนเพลินจิตจนถึงถนนหลังสวน ปฏิบัติการครั้งนี้จึงต้องยกเลิกไปอีกครั้ง

แผนการถัดมากำหนดขึ้นในวัน ที่ 7 พฤษภาคม 2494 โรงเรียนเสนาธิการทหารบกกำหนดจะจัดพิธีประดับเข็มเสนาธิปัตย์และประกาศนียบัตรให้แก่นายทหารที่สำเร็จหลักสูตร ณ ศาลาว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งโดยปกติจะต้องกราบบังคมทูลเชิญองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประทับเป็นประธาน แต่เนื่องจากเสด็จไปประทับอยู่ ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม จึงทำหน้าที่เป็นประธานในพิธี คณะก่อการวางแผนว่าในเวลา 14.00 น.ให้ฝ่ายทหารบกเข้าควบคุณพื้นที่และตัวบุคคลภายในกระทรวง กำลังจากกองเรือรบจะจู่โจมเข้าปลดอาวุธทหารรักษาการณ์ ทหารบกจาก ร.พัน 1 รักษาพระองค์ จะเคลื่อนกำลังเข้าตรึงพื้นที่รอบๆกระทรวง

แต่เมื่อถึงวันปฏิบัติการกลับไม่สามารถดำเนินการตามแผนได้อีก เพราะนายทหารบกระดับผู้บังคับกองพันที่จะเข้าควบคุมกระทรวงกลาโหมไม่มาตามกำหนดนัดหมาย คงมีกำลังทหาร ร.พัน 1 รักษาพระองค์สองหมวด เคลื่อนกำลังทำทีท่าฝึกซ้อมการใช้ปืนกลหนัก แต่กลับเตรียมกระสุนจริงไว้ด้วย อันเป็นสาเหตุให้ผู้บังคับบัญชาหน่วยถูกสงสัยและเพ่งเล็ง กลิ่นของผู้ก่อการโชยเข้าจมูกรัฐบาลอยู่บ่อยครั้ง ปรากฏว่าที่บ้าน น.อ.อานนท์ตรงแยกราชวิถี และที่บ้าน น.ต.มนัสที่ศรีย่าน มีตำรวจนอกเครื่องแบบไปซุ่มจับตาการเคลื่อนไหวอยู่บ่อยๆ

แม้ว่าแผนการยึดอำนาจจะมีอันต้องสะดุดแล้วสะดุดอีก ถึงกระนั้นนายทหารเรือยังเตอร์กกลุ่มนี้ก็ไม่ละความพยายาม ยังมีการประชุมนัดหมายวางแผนครั้งใหม่โดยกำหนดวันก่อการในวันที่ 26 มิถุนายน 2494 ด้วยการบุกเข้าควบคุมตัวนายทหารชั้นผู้ใหญ่ซึ่งกำลังประชุมกันอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล พร้อมกับจู่โจมยึดวังปารุสกวัน จากนั้นจะใช้กำลังจากนาวิกโยธินหน่วยที่ 4 และ 5 เข้าสมทบกับกำลังหมู่รบจากกองเรือยึดจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญในเขตพระนคร

แต่แล้วประวัติศาสตร์ก็ซ้ำรอยอีกครั้งเมื่อ น.ต.ประกายไม่สามารถนำนาวิกโยธินทั้งสองหน่วยออกจากที่ตั้งได้ ทั้งที่หน่วยอื่นๆเคลื่อนพลพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ออกจากที่ตั้งแล้ว จึงจำเป็นต้องสลายกำลังเป็นการด่วน ส่วนอาวุธต้องรอถึงกลางคืนจึงนำเข้าไปเก็บในคลังโดยไม่มีผู้สงสัย ความผิดพลาดครั้งนี้ ทำให้ทหารจากหน่วยต่างๆเฉพาะอย่างยิ่งจากกองทัพบก ขอถอนตัว จน น.อ.อานนท์ และ น.ต. มนัส ต้องชี้แจงให้ทราบว่าฝ่ายรัฐบาลยังไม่ระแคะระคายแผนการยึดอำนาจทั้งหมด ขอให้อดทนและยึดมั่นในอุดมการณ์ กระนั้นก็ตามก็มีกำลังส่วนหนึ่งขอยุติบทบาทในการเข้าร่วมก่อการโดยเด็ดขาด.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 22-28 สิงหาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย" กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520 ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น. จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนต...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่าย กระทิงแดง ยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบ...