ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (31)

รัฐประหาร 20 ตุลาคม 2501:
เมื่อทหารเป็นใหญ่ในแผ่นดิน

เมื่อ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจการปกครองโดยการรัฐประหารเมื่อ 16 กันยายน 2500 แล้วก็แต่งตั้งให้ นายพจน์ สารสิน ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี นายพจน์เริ่มบทบาททางการเมืองจากการเป็นสมาชิกวุฒิสภาด้วยการสนับสนุนของ จอมพล ป. พิบูลสงคราม เมื่อปี 2490 และเข้าร่วมรัฐบาลในตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศในปี 2491 และต่อมาในปี 2492 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างปี 2495-2500 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตไทยประจำสหรัฐอเมริกาและทำ หน้าที่ผู้แทนประเทศไทยประจำองค์การสหประชาชาติ และในเดือนกรกฎาคม 2500 ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาป้องกันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEATO) จากภูมิหลังดังกล่าวที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสหรัฐ เป็นข้องบ่งชี้ถึงการการสร้างความชอบธรรมเพื่อรับรองรัฐบาลที่เกิดจากการทำรัฐประหารในยุคสงครามเย็น

สำหรับการเข้ามาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของนายพจน์นั้น ภารกิจสำคัญคือการพยายามสร้างการเมืองในระบอบประชาธิปไตย เนื่องจากโลกภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มีความเรียกร้องต้องการสร้างฐานกำลังของฝ่าย "โลกเสรีภายใต้การนำของสหรัฐอเมริกา" ขึ้นต่อต้านการแผ่ขยายอิทธิพลของโลกสังคมนิยมที่มีผู้นำ 2 กลุ่มคือ "ม่านเหล็ก สหภาพโซเวียต" และ "ม่านไม่ไผ่ สาธารณรัฐประชาชนจีน"

ดังนั้นในวันที่ 15 ธันวาคม 2500 นายพจน์จึงประกาศยุบสภาแล้วจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไป ในครั้งนั้นมีพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรค คือ พรรคสหภูมิ ซึ่งสนับสนุนจอมพลสฤษดิ์โดยตรง กับ พรรคประชาธิปัตย์ ลงชิงชัยกัน ผลปรากฏว่าพรรคสหภูมิชนะการเลือกตั้งด้วยจำนวน ส.ส. มากที่สุด คือ 45 คน จาก 160 คน แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ เพราะไม่ได้เป็นเสียงข้างมากในสภา

จอมพลสฤษดิ์จึงพยายามรวบรวม ส.ส. อิสระและ ส.ส. จากพรรคเล็กพรรคน้อยมารวมตัวกัน แล้วจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ชื่อ พรรคชาติสังคม ที่มีจอมพลสฤษดิ์เป็นหัวหน้าพรรค โดยสนับสนุนให้ พล.ท.ถนอม กิตติขจร เข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 1 มกราคม 2501 และหลังจากนั้นจึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นพลเอก

แต่แล้วรัฐบาลผสมที่แม้จะดูว่าพรรคชาติสังคมจะเป็นเสียงส่วนใหญ่ของสภาผู้แทนราษฎร ทว่าเนื่องจากลักษณะ "มุ้งเล็กมุ้งน้อย" ในพรรครัฐบาลที่เกิดจาก "กว้าน" ส.ส. จากพรรคอื่นๆ เข้ามาเป็นฐานเสียงในสภา นำไปสู่การเมืองน้ำเน่าด้วยการต่อรองผลผลประโยชน์แลกกับการสนับสนุนรัฐบาล เป็นเหตุให้การบริหารงานราชการแผ่นดินภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีพลเอกถนอมเป็นไปด้วยความยากลำบากยิ่ง

ขณะเดียวกัน ปัญหาสำคัญสำหรับประเทศที่กำลังอยู่ในระยะเปลี่ยนผ่านจากสังคมเกษตรกรรมที่กำลังพยายามพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรม และการปรับปรุงกิจการสาธารณูปโภค ทำให้รัฐบาลหารายได้ได้ไม่พอเพียงกับรายจ่าย ผนวกกับมี ส.ส.บางกลุ่มต้องการให้ไทยวางตัวเป็นกลางไม่ฝักใฝ่กับสหรัฐอเมริกาจนออกนอกหน้า ในขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านก็พยายามเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล

จากการกดดันในสภาดังกล่าว นายกรัฐมนตรีพล.อ.ถนอม หรือที่มีการเรียนขานกันว่า "รัฐบาลหุ่นเชิดของจอมพลสฤษดิ์" ก็รายงานเรื่องให้จอมพลสฤษดิ์ ซึ่งกำลังพักรักษาตัวหลังผ่าตัดม้าม อยู่ที่โรงพยาบาลวอเตอร์รีด ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้รับทราบ จนที่สุดจอมพลสฤษดิ์ก็ต้องเดินทางกลับเมืองไทยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2501 ในเช้าวันที่ 20 ตุลาคม 2501 พล.อ.ถนอมประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จากนั้นในเวลา 21.00 น. จอมพลสฤษดิ์ประกาศยึดอำนาจอีกครั้ง โดยอ้างถึงเหตุความมั่นคงของประเทศ และภัยคุกคามจากลัทธิคอมมิวนิสต์ โดยมีคำสั่ง "คณะปฏิวัติ" ให้ ยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2475 แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2495 ที่ใช้อยู่ขณะนั้น ยุบสภา ยกเลิกและห้ามตั้งพรรคการเมือง มีการประกาศกฎอัยการศึก ห้ามชุมนุมทางการเมืองเกินกว่า 5 คน มีการจับกุมผู้ที่ต้องสงสัยว่าฝักใฝ่ลัทธิคอมมิวนิสต์ ที่ประกอบด้วยปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้า ส.ส. บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ จำนวนมาก

เมื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญแล้ว โดยอาศัยคำสั่งคณะปฏิวัติ จอมพลสฤษดิ์ลงนามออกประกาศคณะปฏิวัติรวม 57 ฉบับระหว่างวันที่ 20 ตุลาคม 2501 จนถึงการประกาศใช้ ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร พุทธศักราช 2502 ในวันที่ 28 มกราคม 2502 พร้อมทั้งจัดตั้ง สภาร่างรัฐธรรมนูญ ขึ้นเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2502 ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจำนวน 240 คน ทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญกับให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับที่ตนเองจัดทำขึ้น และให้มีฐานะเป็นรัฐสภาทำหน้าที่นิติบัญญัติอีกไปพร้อมกัน โดยเปิดประชุมสภาร่างรัฐธรรมนูญเป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2502 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม มี พลเอกสุทธิ์ สุทธิสารรณกร ได้รับเลือกจากสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นประธานฯ

นอกจากนั้นสภาร่างรัฐธรรมนูญยังทำหน้าที่ในการคัดเลือกจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี โดยได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 โดยมีคณะรัฐมนตรีเพียง 14 นาย ที่มีแต่รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเท่านั้น ซึ่งเท่ากับรวมศูนย์การใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปที่ตัวนายกรัฐมนตรีหรือ "หัวหน้าคณะปฏิวัติ" นั่นเอง สำหรับรัฐมนตรีที่สำคัญ ได้แก่ พล.อ.ถนอม กิตติขจร รองหัวหน้าคณะปฏิวัติ เป็นรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, พ.อ. (พิเศษ) ถนัด คอมันตร์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, พล.ท.ประภาส จารุเสถียร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และ พระบำราศนราดูร (หลง เวชชาชีวะ) เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

ธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรนี้ เปิดโอกาสรวมศูนย์การใช้อำนาจแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดไปที่ตัวนายกรัฐมนตรีนั่นเอง ส่งผลให้ จอมพลสฤษดิ์ ซึ่งแต่งตั้งตนเองเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก อธิบดีกรมตำรวจ สามารถใช้อำนาจในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้อย่างเต็มที่ ผ่านมาตรา 17 ด้วยการอ้างเหตุผลด้านความมั่นคง

และช่วงนี้เอง นายทหารคนหนึ่งเริ่มก้าวเข้าสู่วังวนของอำนาจทางการเมืองอย่างเงียบเชียบในฐานะสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ นั่นคือ พันเอกเปรม ติณสูลานนท์ รองผู้บัญชาการโรงเรียนยานเกราะ กองทัพบก.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 17-23 ตุลาคม 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย" กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520 ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น. จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนต...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่าย กระทิงแดง ยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบ...