สฤษดิ์ ธนะรัชต์: นายกรัฐมนตรีจนวาระสุดท้าย
สำหรับที่มาของฉายา "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" ซึ่งเจ้าตัวภูมิใจนักหนา ทั้งนี้เพราะมีที่มาจากการเป็นอาภรณ์เพียงชิ้นเดียวสำหรับต้อนรับ "สาวแก่แม่ม่าย" (ผู้มักจะได้รับการปรับสถานภาพเป็น "อนุภรรยา" ในเวลาต่อมา) ที่คนสนิทพามาพบที่ "วิมานสีชมพู" อันเป็นบ้านพักหลังกองพล 1 หรือกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ (พล 1 รอ.) ซึ่ง "จอมพล 3 คนสุดท้ายของราชอาณาจักรไทย" เคยมาเป็นอดีตผู้บังคับบัญชาทังสิ้น คือ พลตรี สฤษดิ์ ธนะรัชต์ (พ.ศ.2491-2493) พลตรี ถนอม กิตติขจร (พ.ศ.2493-2495) และ พลตรี ประภาส จารุเสถียร (พ.ศ.2495-2500)
ผลประการหนึ่งจากนโยบาย "เชือดไก่ให้ลิงดู" ของ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เป็นเหตุให้ขบวนการนิสิตนักศึกษายุคหลังกึ่งพุทธกาล ตกอยู่ในสภาพชะงักงันต่อเนื่องกว่า 1 ทศวรรษ เป็นการยุติบทบาทในการตรวจสอบรัฐบาลจากช่วงก่อนหน้านั้นนับจากปี 2490 จนถึงการชุมนุมเดินขบวนคัดค้าน "เลือกตั้งสกปรก 26 กุมภาพันธ์ 2500" โดยสิ้นเชิง ถึงขนาดนายกรัฐมนตรีกล่าวชมเชยในการปราศรัยแสดงความยินดีต่อบัณฑิต 2503 ของนายกรัฐมนตรี ว่า "...ในยุคหลังนี้ได้รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยในมหาวิทยาลัยและทำตนเป็นนักศึกษาอย่างแท้จริง คือตั้งใจศึกษาหาความรู้ เหตุการณ์ไม่เรียบร้อยที่เคยมีมาในครั้งก่อนๆได้ลดน้อยลงเป็นอันมาก ซึ่งนับเป็นเกียรติเป็นศักดิ์ศรีแก่สถาบันการศึกษาสูงสุดของชาติ" (จาก เอกสารประกอบการสังคายนาประวัติศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในวาระงาน 50 ปี ธรรมศาสตร์ โดยมี ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, นิธิ เอียวศรีวงศ์, ธงชัย วินิจจะกูล ฯลฯ ร่วมเป็นกรรมการ)
นอกจากนั้น นักศึกษาที่เคยมีบทบาทในช่วงที่ผ่านมา จะถูกจับตามองด้วยความไม่ไว้วางใจ รัฐบาลเผด็จการใช้อำนาจทั้งทางตรงและทางอ้อม ในการเข้าควบคุมกิจกรรมนิสิตนักศึกษาได้อย่างเด็ดขาด ขบวนการนักศึกษามีความอ่อนแอที่สุด ไม่มีกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ใดๆออกมาให้เห็น ความเข้าใจต่ออุดมการทางสังคมที่เคยมีการปฏิบัติการมาตลอดขาดช่วงลงอย่างสิ้นเชิง
ในขณะเดียวกันจากคลี่คลายขยายตัวของสถานการณ์การเมืองระดับโลกภายหลังสงครามเกาหลี (2493-2496) นำไปสู่ยุค "สงครามเย็น" ก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างไทยไทยกับสหรัฐอเมริกาอย่างแบแน่น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการรับรองจนประเทศไทยไม่ต้องตกเป็น "ประเทศแพ้สงคราม" หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 นั่นคือ หลังจากสถาปนาอำนาจเบ็ดเสร็จของจอมพลสฤษดิ์เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2502 การร่วมมือที่มีลักษณะแลกเปลี่ยนก็เกิดขึ้น เริ่มจากการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเริ่มในปี 2504 เพื่อทำให้เศรษฐกิจเติบโตขึ้นบนพื้นฐานทุนเอกชน อันเป็นการขยายตลาดการค้าและวัตถุดิบและนโยบายเศรษฐกิจชนิดที่ต้องพึงพาและขึ้นต่อสหรัฐไปโดยปริยาย
ในขณะเดียวกัน การลุกขึ้นต่อสู้เพื่อเอกราชของขบวนการประชาชนในอินโดจีนที่นำโดย "พรรคคอมมิวนิสต์" ในแต่ละประเทศ ทำให้ไทยมีความสำคัญต่อการวางนโยบายของสหรัฐฯ มากยิ่งขึ้นตาม "ทฤษฎีโดมิโน" ซึ่งเคยเป็นความคิดชี้นำทางการเมืองของ "โลกเสรี" ที่ว่าหากประเทศใดประเทศหนึ่งในภูมิภาคกลายเป็นคอมมิวนิสต์ ประเทศอื่นๆจะต้องถูกยึดครองแล้วกลายเป็นคอมมิวนิสต์ตามกันไป ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ สหรัฐมองว่าประเทศไทยเป็นปราการสำคัญที่สุดในการป้องกันการแผ่ขยายอำนาจของ "ค่ายสังคมนิยม" หรือ "คอมมิวนิสต์" จึงต้องทุ่มเทความช่วยเหลือ โดยเฉพาะด้านกำลังอาวุธจำนวนมากให้ไทย ช่วยฝึกทหารไทย และความช่วยเหลืออื่นๆด้านการทหารเพิ่มขึ้น
ยิ่งไปกว่านั้นสหรัฐฯ ยังเข้ามาสร้างและขยายปรับปรุงฐานทัพในประเทศไทยหลายแห่ง เพื่อสนับสนุนการขนส่ง ปฏิบัติการด้านข่าวกรองและระบบเตือนภัย เป็นฐานสำหรับเครื่องบินขับไล่สู้รบทางอากาศและเครื่องบินทิ้งระเบิด และเป็นฐานสำหรับควบคุมสงครามสมัยใหม่ในยุคอิเลกทรอนิกส์ เริ่มตั้งแต่ติด ตั้งระบบควบคุมอากาศยานและระบบเตือนภัยที่สนามบินดอนเมือง และสร้างสนามบินตาคลีจังหวัดนครสวรรค์ในปี 2504 มีการพัฒนาฐานทัพที่โคราชในปี 2505 มีการปรับปรุงฐานทัพอากาศที่จังหวัดนครพนมในปี 2506
แต่กระนั้นก็ตาม ภายหลังการเสียชีวิตของนายกรัฐมนตรีคนเดียวในขณะที่ดำรงตำแหน่งของ "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2506 ด้วยโรคไตพิการที่เรื้อรังที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และถือว่าเป็นการสิ้นสุดลงของ "ระบอบสฤษดิ์" รัฐบาลสหรัฐก็ยังคงทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลเข้าสู่ประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง คือ ฐานทัพที่อุดรธานี ซึ่งเป็นกองบัญชาการของกองทัพอากาศสหรัฐฯ ประจำประเทศไทยถูกสร้างขึ้นในปี 2507 ฐานทัพที่อู่ตะเภาสร้างเสร็จในปี 2509 และมีการปรับปรุงสนามบินน้ำพอง ที่จังหวัดขอนแก่น ก็ได้รับการปรับปรุง ในปี 2515 เพื่อรองรับหน่วยบินทิ้งระเบิดของสหรัฐฯ ที่ย้ายมาจากเวียดนาม
ต่อมา พลเอกถนอม กิตติขจร รองนายกรัฐมนตรี แจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบว่า ได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและกราบบังคมทูลให้ทรงทราบแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชกระแสรับสั่งให้จัดพิธีศพแก่นายกรัฐมนตรีอย่างมีเกียรติสูง โดยทรงพระราชดำริว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ได้ทำคุณประโยชน์ให้แก่ประเทศชาติบ้านเมืองอย่างมากมาย จึงสมควรให้จัดพิธีการศพให้สูงกว่าผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ อาทิเช่นพระราชทานน้ำหลวงอาบศพ พระราชทานโกฏกุดั่นทองน้อย เทียบเท่าพระบรมวงศ์เธอ (ทรงกรม) และให้ตั้งศพที่พระที่นั่งทรงธรรม วัดเบญจมบพิตร, ให้ไว้ทุกข์ในพระราชสำนัก และให้ข้าราชการไว้ทุกข์ เป็นเวลา 21 วัน, ให้ลดธงครึ่งเสา 7 วัน, โปรดเกล้าฯให้งดงานพิธีต่างๆ คือ งานพระราชอุทธยานสโมสรวันที่ 9 ธันวาคม งานพิธีวันรัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม และงานกาชาดในวันที่ 27 ธันวาคม 2506 ด้วย ทั้งยังให้เลื่อนการเสด็จเยี่ยมประเทศไทยของกษัตริย์มาเลเซียและการเยี่ยมของคณะทูตเวียดนามออกไป
หลังจากนั้นไม่นานบรรดาทายาทและภรรยา โดยเฉพาะภรรยาคนสุดท้าย คือ ท่านผู้หญิงวิจิตรา (นามสกุลเดิม "ชลทรัพย์") เกิดมีเรื่องฟ้องร้องเป็นคดีความใหญ่โตเกี่ยวกับกองมรดกซึ่งมีมูลค่ามหาศาล 2,874,009,794 บาท รวมไปถึงอสังหาริมทรัพย์เป็นที่ดินมากกว่า 20,000 ไร่ในต่างจังหวัด และที่ดินอีกนับแปลงไม่ถ้วนทั้งในและทั่วพระนครที่ประเมินค่ามิได้ รวมทั้งผลประโยชน์ในธุรกิจการค้า ถึง 45 บริษัท
ท้ายที่สุด คณะกรรมการสอบสวนที่แต่งตั้งโดยจอมพลถนอม นายกรัฐมนตรี ก็สรุปว่าทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์มีจำนวนมากที่ได้มาด้วยวิธีการที่ไม่ถูกต้อง และรัฐบาลได้ประกาศริบทรัพย์เป็นจำนวน 574,328,078 บาท ซึ่งเป็นการยึดทรัพย์นักการเมืองเป็นครั้งแรกของประเทศไทยนับตั้งแต่การอภิวัฒน์สยาม 2475.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 31 ตุลาคม - 6 พฤศจิกายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น