ถนอม กิตติขจร: ผู้สืบทอดยุคแห่งความมืดบอดทางปัญญา
สภาพการทางการเมืองและสังคมโดยทั่วไปนับจากมรณกรรมของ "จอมพลผ้าขาวม้าแดง" ยังอยู่ภายใต้การปกครองแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยอาศัย "อำนาจคณะปฏิวัติ" เป็นเวลาถึง 1 ทศวรรษที่พัฒนาการทางการเมืองในสังคมไทยตกอยู่ในภาวะชะงักงันเกือบจะโดยสิ้น เชิง ที่สำคัญการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ที่มีหลักประกันด้วย "รัฐธรรมนูญ" และ "สิทธิของประชาชน" ในการเลือกตั้งฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหาร กลายเป็นเสมือนคำ "ต้องห้าม" ไปโดยปริยาย ด้วยนโยบาย "ปิดหู-ปิดตา-ปิดปาก" ที่รัฐบาลคณะปฏิวัติที่นำโดยจอมพลถนอม กิตติขจร ใช้สืบเนื่องต่อมาจากรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์
ผลก็คือ การรวมกลุ่มของประชาชนวงการต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้น และมีกิจกรรมเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิเสรีภาพตามระบอบประชาธิปไตย "สาบสูญ" ไปจากประเทศไทยโดยสิ้นเชิง ไล่เรื่อยลงไปตั้งแต่ "พรรคการเมือง" "สมาคมกรรมกร-ชาวนา" และ "ขบวนการนิสิตนักศึกษา" ที่มีความตื่นตัวทางการเมือง
ความบีบคั้นและนโยบาย "กวาดล้าง" ผู้มีความเห็นทางการเมืองตรงข้ามกับรัฐบาลทหาร ส่งผลให้ นักการเมืองส่วนหนึ่ง ผู้นำกรรมกร-ชาวนาส่วนหนึ่ง ข้าราชการที่ดำเนินชีวิตสนิทแนบกับคนชั้นล่าง เป็นต้นว่าครูประชาบาลในชนบทห่างไกลโดยเฉพาะทางภาคอีสาน ตลอดจนปัญญาชน นักคิดนักเขียน ถูกผลักไสให้เดินทางเข้าร่วมกับ "พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)" เป็นจำนวนไม่น้อย ซึ่งเท่ากับเป็นการเสริมความเข้มแข็งและขยายการเติบโต ให้แก่ประชาชนที่ "ปราศจากเสรีภาพ" และ "ไม่มีทางเลือกอื่นสำหรับการเอาชีวิตรอด"
จนกระทั่งนำไปสู่ "วันเสียงปืนแตก" คือวันที่ 7 สิงหาคม 2508 ซึ่งเป็นวันที่กองกำลังในนาม "กองทัพปลดแอกประชาชนแห่งประเทศไทย (ทปท.)" ภายใต้การนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยใช้อาวุธโจมตีกองกำลังของรัฐบาล ไทยเป็นครั้งแรก ที่บ้านนาบัว ตำบลเรณูนคร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม พร้อมกับการประกาศยุทธศาสตร์ "ต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธ ใช้ชนบทล้อมเมือง และยึดเมือง"
ช่วงเวลานี้เอง ที่ "จิตร ภูมิศักดิ์" ปัญญาชนนักคิดนักเขียนคนสำคัญ ถูกกดดันให้เข้าร่วมกับการต่อสู้ด้วยอาวุธกับพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย หลังจากถูกจับกุมเมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2501 ในข้อหามีการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์และโดนฟ้องศาลในข้อหาดังกล่าว ยังศาลทหารในปี 2506 ตาม "พระราชบัญญัติป้องกันการกระทำอันเป็นคอมมิวนิสต์ 2495" แต่เนื่องจากเป็นเรื่องเมื่อปี 2496 ซึ่งรัฐบาลได้ออกกฎหมายนิรโทษกรรมไปแล้วในคราวฉลอง 25 พุทธศตวรรษ จึงตัดสินให้การกระทำเช่นนั้นไม่มีความผิดต่อไป ศาลจึงยกฟ้องคดีที่จิตรเป็นจำเลย แต่จิตรก็ถูกกักตัวไว้ที่เรือนจำลาดยาวนานถึง 8 ปี กว่าจะได้รับอิสรภาพใน เดือนตุลาคม 2508
จากนั้นอีกเพียง 1 ปีถัดมา จิตร ภูมิศักดิ์ หรือ "สหายปรีชา" ก็จบชีวิตลง จากกระสุนปืน PSG-1ของเจ้าหน้าที่ เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2509 ที่ ตำบลบ้านหนองกุง อำเภอวาริชภูมิ จังหวัดสกลนคร หลงเหลือเพียงตำนานของเสรีชนนักสู้กับระบอบเผด็จการ และนักคิดนักเขียนที่ยืนหยัดเคียงผู้คนที่ต่ำต้อยน้อยหน้า ไร้สิทธิไร้เสียง ถูกเอารัดเอาเปรียบในสังคม ตราบเท่าทุกวันนี้
ในเวลาเดียวกัน ความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ก็พัฒนาการมาจนถึงจุดเข้มข้นที่สุดในระดับที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน สหรัฐอเมริกาเร่งส่งทหารและอาวุธยุทโธปกรณ์เข้ามาในประเทศไทยมากยิ่งขึ้น กว่าในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ช่วงปี 2509 ที่กระแสสงครามเวียดนามขึ้นสูงสุด จำนวนเที่ยวบินที่ออกจากฐานทัพไทยไปทิ้งระเบิดในเวียดนามอยู่ระหว่าง 875-1,500 เที่ยวต่อสัปดาห์ ระหว่างปี 2508-11 เฉพาะเครื่องบินจากฐานทัพโคราชและตาคลี ได้ทิ้งระเบิดในเวียดนามเหนือมากถึง 75 ตัน ขณะที่จำนวนทหารสหรัฐฯ ในไทยเพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 48,000 นาย ในปี 2512
สำหรับในส่วนของนิสิตนักศึกษา มีคำกล่าวเปรียบเทียบในเวลาต่อมาว่าหลังการรัฐประหารโดยจอมพลสฤษดิ์ 2 ครั้ง เป็น "ยุคมืดทางปัญญา" งานวิจัยทางวิชาการและงานเขียนในแวดวงปัญญาชนจำนวนมากในเวลาต่อมา สะท้อนถึงสภาพการที่เรียกว่า "วัฒนธรรมยุคสายลมแสงแดด" ที่แยกตัวนิสิตนักศึกษาออกจากสภาพสังคมที่แวดล้อม กิจกรรมในรั้วมหาวิทยาลัยจำกัดอยู่ในวงแคบรอบๆ และเต็มไปด้วยกิจกรรมบันเทิง และพิธีกรรมที่ไม่ส่งเสริมให้ตระหนักและรับผิดชอบต่อสังคมโดยทั่วไป
จนถึงปี 2508 สภาวการณ์ดังกล่าวได้มาถึงจุดอิ่มตัว เริ่มมีการรวมกลุ่มพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์สังคม และตั้งคำถามโดยกลุ่มนักศึกษาที่เป็น "ขบถ" ในรั้วมหาวิทยาลัย เริ่มจากชุมนุมวรรณศิลป์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำเสนองานเขียนที่เป็นบทกวีหลากหลายรูปแบบที่มีลักษณะ "ทวนกระแส" ประกอบไปด้วยเนื้อหาสาระใหม่ๆ เช่นเรื่องปัญหาสังคมที่เสื่อมโทรม สงครามและความยากจน บรรยากาศ "สายลมแสงแดด" ถูกชำแหละและเข้าสู่สภาวะ "ปฏิกิริยาแห่งยุคสมัย" แม้ว่ากิจกรรมบันเทิงรูปแบบเดิมจะยังมิได้หมดไปเสียทีเดียวก็ตาม
ในที่สุดการร่างรัฐธรรมนูญซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2502 ก็เสร็จสิ้น และมีการประกาศใช้ "รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2511" โดยมีวุฒิสภาซึ่งมาจากการแต่งตั้ง และห้าม ส.ส. เป็นรัฐมนตรี ซึ่งเป็นสาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้นายทหารที่คุมกำลังไม่ลงรับสมัครเลือก ตั้ง
ต่อมาในวันที่ 15 ตุลาคม ก็มีการประกาศใช้กฎหมายพรรคการเมือง และกำหนดจัดการเลือกตั้งขึ้นในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2512 หลังจากที่ว่างเว้นมาถึง 11 ปี
ผลการเลือกตั้งปรากฏว่าผู้สมัครของ "พรรคสหประชาไทย" ที่จัดตั้งโดยจอมพลถนอม ได้รับเลือกมากที่สุดคือ 76 คนจากจำนวนที่นั่งทั้งหมด 219 ที่นั่ง แต่นั่นก็เพียงพอแล้วเพราะการซาวเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีจะต้องทำร่วมกัน ระหว่างสภาผู้แทนฯ กับวุฒิสภา ซึ่งประกอบด้วยคนของจอมพลถนอมฯ เกือบทั้งสิ้น และจอมพลถนอม ก็ได้รับการเสนอชื่อและได้รับการรับรองโดยสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายก รัฐมนตรีและจัดตั้งรัฐบาลขึ้นโดยรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลก็จะเป็นนายทหารคุม กำลัง เช่น จอมพลประภาส จารุเสถียร ผู้บัญชาการทหารบกก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย ส่วนจอมพลถนอมฯ นั้นควบ 3 ตำแหน่งสำคัญ คือ นายกรัฐมนตรีและผู้บัญชาการทหารสูงสุด แล้วก็ยังเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมด้วย พันเอกถนัด คอร์มันตร์ ข้าราชการกระทรวงการต่างประเทศเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ
รัฐบาลชุดที่ตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2512 นี้ มีนายพจน์ สารสิน อดีตนายกรัฐมนตรีขัดตาทัพครั้งที่จอมพลสฤษดิ์ทำรัฐประหารเมื่อ 16 กันยายน 2500 รวมอยู่ด้วยด้วย.
พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 6-13 พฤศจิกายน 2552
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น