ข้ามไปที่เนื้อหาหลัก

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (49)

สถานการณ์วันต่อวัน: คลื่นเหนือน้ำสู่ 6 ตุลาฯ

ในวันที่ 25 กันยายน มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากลาออกไปเมื่อวันที่ 23 กันยายน นายสุธรรม แสงประทุม เลขาธิการศูนย์นิสิตฯ และนายชัชวาลย์ ปทุมวิทย์ ผู้ประสานงานแนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ แถลงต่อสื่อมวลชนกรณีฆ่าแขวนคอที่นครปฐม มีการชุมนุมที่จุฬาฯ และตั้งตัวแทนยื่นหนังสือเรียกร้องต่อรัฐบาลให้ดำเนินการ 2 ประการ คือ 1.จัดการให้พระถนอมออกจากประเทศไทยโดยเร็วที่สุด 2.ให้เร่งจับกุมฆาตกรฆ่าแขวนคอที่นครปฐม

ขณะเดียวกับกลุ่มพลังต่างๆที่ต่อต้านขบวนการนักศึกษา ซึ่งเรียกกันว่ากลุ่มจัดตั้งฝ่ายขวาก็ทยอยกันออกหน้าขยายบทบาทอย่างรวดเร็วผิดสังเกต เริ่มจากการที่ ดร.คลุ้ม วัชโรบล นำลูกเสือชาวบ้านประมาณ 200 คน ไปวัดบวรนิเวศฯ เพื่ออาสาป้องกันการเผาวัด เกือบจะในเวลาเดียวกับที่มีการออกข่าวว่านายไพศาล ธวัชชัยนันท์ ประธานสหภาพแรงงานการไฟฟ้านครหลวงและประธานสภาองค์การลูกจ้างสภาแรงงานแห่งประเทศไทย ขอเข้าเฝ้าสมเด็จพระสังฆราชเพื่อยื่นหนังสือ แต่ไม่ได้รับอนุญาต

และวันรุ่งขึ้น พระเทพกิตติปัญญาคุณ หรือที่เป็นที่รู้จักดีในนาม กิตติวุฑโฒภิกขุ (กิติศักดิ์ เจริญสถาพร) อดีตเจ้าอาวาสวัดจิตตภาวัน จังหวัดชลบุรี ซึ่งเคยให้สัมภาษณ์ น.ส.พ.จัตุรัส ว่า "การฆ่าคนเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ถือเป็นบุญกุศลเหมือนฆ่าปลาแกงใส่บาตรพระ" และนายวัฒนา เขียววิมล แกนนำกลุ่มนวพล ไปเยี่ยมพระถนอมที่วัดบวรฯ เวลา 22.30 น. อ้างว่ามาสนทนาธรรม โดยให้สัมภาษณ์ว่าการเข้ามาบวชของพระถนอมนั้นบริสุทธิ์

แม้ฝ่ายประชาชนที่ร่วมกันผลักดันให้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญจากเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ พอจะมองออกว่า เหตุการณ์ต่างๆเป็นการวางแผนและดำเนินการเป็นขั้นตอนเพื่อนำไปสู่จุดมุ่งหมายที่จะทำลายความพยายามในอันจะสถาปนาระบอบประชาธิปไตยให้เพิ่งคืนกลับมายังประเทศไทยได้เพียง 3 ปี แต่เหตุการณ์นับจากการลอบเดินทางเข้ามาบวชในประเทศของอดีตนายกรัฐมนตรี หนึ่งในสามทรราชย์ จอมพล ถนอม กิติขจร นั้นดูจะไม่อนุญาตให้ฝ่ายประชาธิปไตยในเวลานั้นมีทางเลือกอื่น ดังนั้น ในวันที่ 27 กันยายน ศูนย์นิสิตฯ สภาแรงงานแห่งประเทศไทย แนวร่วมต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ และตัวแทนจากกลุ่มพลังต่างๆ จึงจัดประชุม 3 ฝ่าย และที่ประชุมกันมีมติเรียกร้องให้รัฐบาลขับพระถนอมออกนอกประเทศ และให้เร่งดำเนินการจับฆาตกรสังหารโหดฆ่าแขวนคอที่นครปฐมโดยเร็วเนื่องจากมีพยานรู้เห็นสามารถระบุทั้งเวลาและสถานที่ในเหตุ "อุ้ม" พนักงานการไฟฟ้าทั้ง 2 คน

ซึ่งต่อมาในวันที่ 6 ตุลาคม มีตำรวจ 5 คนถูกจับในข้อหาสมคบฆ่าแขวนคอสองพนักงานการไฟฟ้า ได้แก่ ส.ต.อ. ชลิต ใจอารีย์ ส.ต.ท.ยุทธ ตุ้มพระเนียร ส.ต.ท.ธเนศ ลัดดากล ส.ต.ท.แสงหมึก แสงประเสริฐ พลฯ สมศักดิ์ แสงขำ แต่ทั้งหมดถูกปล่อยตัวอย่างเงียบๆ หลังการยึดอำนาจของคณะปฏิรูปการปกครองฯ

สำหรับสภาพการณ์ทั่วไปช่วงวันที่ 26-27 กันยายน ฝ่ายทหารมีการเคลื่อนย้ายกำลังพลเข้ามาในเขตกรุงเทพฯ ด้วยคำอ้างว่าจะมีการเดินสวนสนามเพื่อสาบานตนต่อธงชัยเฉลิมพล ซึ่งปกติจะกระทำในวันที่ 25 มกราคมของทุกปี ซึ่งสมัยนั้นถือเป็นวันกองทัพไทย

ระหว่างนั้นฝ่ายนิสิตนักศึกษาเล็งเห็นว่ายิ่งทอดเวลาออกไป ยิ่งจะเสริมความชอบธรรมให้แก่การเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามกับประชาธิปไตยในเวลานั้น ดังนั้นในวันที่ 28 กันยายน หลังการประชุมตัวแทนสมาชิกศูนย์นิสิตฯ จึงจัดการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนทุกแขนง ว่าจะจัดชุมนุมที่สนามหลวงในวันที่ 29 กันยายน เพื่อเร่งรัฐบาลให้ดำเนินการข้อเรียกร้องเป็นลายลักษณ์อักษร

29 กันยายน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ประกาศเลื่อนพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรออกไปโดยไม่มีกำหนด ศูนย์นิสิตฯ และกลุ่มพลังต่างๆ นัดชุมนุมอย่างสงบตามสิทธิแห่งรัฐธรรมนูญที่สนามหลวง นายสุธรรม แสงประทุม กล่าวกับประชาชนว่า การชุมนุมครั้งนี้ได้แจ้งให้นายกฯ ทราบแล้ว และนายกฯ รับปากว่าจะให้กำลังตำรวจคุ้มครองผู้ชุมนุม มีประชาชนมาร่วมชุมนุมประมาณสองหมื่นคน ระหว่างการชุมนุมมีกลุ่มที่อ้างว่ารักชาติมาตั้งเครื่องขยายเสียงกล่าวโจมตีศูนย์นิสิตฯอย่างหยาบคาย จนตำรวจต้องไปขอร้องให้เลิกและกลับไปเสีย

ในขณะที่มีการปล่อยงูพิษกลางที่ชุมนุมซึ่งจัดโดยนักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ที่หาดใหญ่ และมีการยิงปืนใส่ที่ชุมนุมก่อนสลายตัว นายจเร ดิษฐแก้ว ถูกยิงที่กกหูบาดเจ็บ นายสมชัย เกตุอำพรชัย นักศึกษาวิทยาลัยเทคนิคภาคใต้ถูกตีศีรษะและถูกยิงที่มือซ้าย

ระหว่างนั้น ศูนย์นิสิตฯได้ส่งตัวแทนเข้าพบนายกฯ เพื่อขอฟังผลตามข้อเรียกร้องที่เคยยื่นไว้ แต่เลขานุการนายกฯ ไม่ให้เข้าพบ กระทั่งเวลาสามทุ่มเศษ นายสุธรรมและคณะจึงกลับมาที่ชุมนุมพร้อมกับกล่าวว่าผิดหวังมาก แต่ยืนยันว่าจะสู้ต่อไป และจะให้เวลารัฐบาลถึงเที่ยงวันเสาร์ที่ 2 ตุลาคม ถ้ารัฐบาลยังไม่ตัดสินใจแก้ปัญหานี้ ก็จะเคลื่อนไหวทั้งใน กทม.และต่างจังหวัดพร้อมกัน ที่ชุมนุมประกาศสลายตัวเมื่อเวลา 21.45 น.

กลุ่มกระทิงแดงและลูกเสือชาวบ้านจำนวนหนึ่งเดินทางไปชุมนุมกันที่วัดบวรฯ ประกาศว่ามาเพื่ออารักขาพระถนอม

30 กันยายน รัฐบาลส่งนายประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ดร.นิพนธ์ ศศิธร และนายดำรง ลัทธพิพัฒน์ เป็นตัวแทนไปนิมนต์พระถนอมออกนอกประเทศ แต่พระถนอมปฏิเสธ ทั้งนี้ สมเด็จพระญาณสังวร และคณะสงฆ์ผู้ใหญ่ แจ้งให้ตัวแทนรัฐบาลทราบว่า พระบวชใหม่จะไปไหนตามลำพังระหว่างพรรษาไม่ได้ และกำหนดพรรษาจะสิ้นสุดลงในวันที่ 8 ตุลาคม ส่วนประเด็นข้อเรียกร้องของศูนย์นิสิตฯ ให้พระถนอมออกนอกประเทศนั้น นายกรัฐมนตรี ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แถลงยืนยันว่า รัฐบาลทำไม่ได้ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญ

1 ตุลาคม ศูนย์นิสิตฯ จัดการชุมนุมที่สนามหลวง ประกาศให้ประชาชนมาฟังคำตอบรัฐบาลในวันที่ 4 ตุลาคม เวลา 15.30 น. ก่อนจะสลายตัวในเวลาประมาณ 21.00 น. ระหว่างนั้นมี ตัวแทนญาติวีรชน 14 ตุลา จำนวน 5 คน เริ่มอดอาหารประท้วงที่หน้าทำเนียบรัฐบาล จนกว่ารัฐบาลจะให้คำตอบแน่ชัดว่าจะให้พระถนอมออกจากประเทศไทย ขณะที่นายสมศักดิ์ ขวัญมงคล หัวหน้ากลุ่มกระทิงแดง กล่าวว่า หากมีการเดินขบวนไปวัดบวรนิเวศฯ กระทิงแดงจะอารักขาวัดบวรฯ พร้อมกับเปิดตัวขบวนการปฏิรูปแห่งชาติร่วมกับกลุ่มพลัง 12 กลุ่ม ออกแถลงการณ์ว่าศูนย์นิสิตฯถือเอากรณีพระถนอมเป็นเครื่องมือก่อความไม่สงบ.


พิมพ์ครั้งแรก โลกวันนี้ ฉบับวันสุข วันที่ 20-26 กุมภาพันธ์ 2553
คอลัมน์ พายเรือในอ่าง ผู้เขียน อริน

ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (52)

"คณะปฏิรูปฯ" และ "รัฐบาลหอย" กับมรสุมลูกแรก กบฏ 26 มีนาคม 2520 ตอนเย็นวันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 นั่นเอง นายทหารคณะหนึ่งปรากฏตัวขึ้นในนาม "คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน" นำโดย พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ประกาศยึดอำนาจจากรัฐบาล ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช โดยให้เหตุผลในคำประกาศว่า เพื่อกอบกู้สถาบัน ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ให้พ้นจากสถานการณ์อันเลวร้าย จึงยกเลิกรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.2517 ยุบรัฐสภา ยกเลิกพรรคการเมือง ประกาศใช้กฎอัยการศึก รวมทั้งห้ามประชาชนออกนอกบ้านระหว่าง 01.00 – 04.30 น. จากนั้นในวันที่ 8 ตุลาคม พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน นำ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบรมราชโองการประกาศแต่งตั้งให้ นายธานินทร์ กรัยวิเชียร เป็นนายกรัฐมนตรี เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน นับเป็นการการสิ้นสุดระบอบประชาธิปไตยอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดอีกครั้งหนึ่ง และเป็นการสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญที่ได้มาด้วยการต่อสู้ของประชาชนที่รวมตัวกันล้มระบอบเผด็จการทหาร พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ ตั้งคณะรัฐมนต...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (56)

เรื่องของ "เปรม": เส้นทางที่ไม่ได้เลือก? รัฐบาลได้ตั้งคณะกรรมการรวบรวมและดำเนินคดีในฐานะกบฏคณะบุคคลทั้งทหารและพลเรือน รวมทั้งประกาศให้ให้ผู้ร่วมก่อความไม่สงบรายงานเข้ารายงานตัว จนถึงเวลาที่กำหนดเป็นเส้นตาย มีผู้รายงานตัวครบ 289 คน เป็นพลเรือน 110 คน เช่น นายรักศักดิ์ วัฒนาพานิช และ นายบุญชนะ อัตถากร ตำรวจ 25 คน เช่น ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง และทหาร 154 คน ซึ่งสมาชิกส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยกลุ่มทหารหนุ่มที่เรียกว่า "ยังเติร์ก (Young Turk)" ทั้งนี้เป็นการเรียกขานกันโดยมีที่มาจากขบวนการปัญญาชนหัวใหม่ปลายยุคอาณาจักรออตโตมาน ที่ลุกขึ้นปฏิวัติประชาธิปไตยระหว่างปี ค.ศ. 1876 ถึงปี ค.ศ. 1923 ผู้นำคนสำคัญคือ มุสตาฟา เคมาล (Mustafa Kemal) ซึ่งก้าวขึ้นมาสู่ความเป็นผู้นำผู้นำในการต่อสู้ขับไล่กองกำลังต่างชาติ ใน "สงครามเพื่อการปลดปล่อย (War of Liberation)" ช่วงปี ค.ศ. 1919-1923 จนเกิด สาธารณรัฐตุรกี จึงมีชื่อเรียกความพยายามทำรัฐประหารครั้งนี้อีกชื่อหนึ่งว่า "กบฏยังเติร์ก" ในจำนวนแกนนำระดับหัวหน้าผู้ก่อการคนสำคัญที่เดินทางออกนอกประเทศ พ.อ.มนูญ รูปขจร ลี...

2475-2549 โปรดฟังอีกครั้ง (50)

6 ตุลาคม 2519 วันสังหารนกพิราบ ในวันที่ 2 ตุลาคม 2519 อันเป็นกำหนดเวลาเส้นตายที่ศูนย์นิสิตฯยื่นต่อรัฐบาล ทางฝ่าย กระทิงแดง ยกกำลังอันธพาลทางการเมืองจำนวนหนึ่งอ้างว่าเพื่อป้องกันการบุกรุกมาตั้งแนวล้อมวัดบวรนิเวศ ปรากฏว่าหลังจากตัวแทนตัวแทนศูนย์นิสิตฯ ไม่ได้รับคำตอบใดจากการเข้าพบนายกรัฐมนตรี จึงกลับออกมาและเรียกประชุมได้ข้อสรุปออกมาเป้นมติให้มีการชุมนุมประชาชนครั้งใหญ่ที่สนามหลวงในเวลาเย็นวันจันทร์ที่ 4 ตุลาคม ต่อมานับจากช่วงเช้าของวันที่ 4 ตุลาคมนั้นเอง กลุ่มนักศึกษาอิสระในธรรมศาสตร์รวม 21 กลุ่ม เริ่มการรณรงค์ให้นักศึกษางดสอบและเข้าร่วมการประท้วงขับไล่จอมพลถนอม ในการนี้ ชมรมนาฏศิลป์และการละครได้จัดการแสดงละครปลุกเร้าจิตสำนึกทางการเมือง โดยมีฉากหนึ่งที่เป็นภาพสะท้อนถึงช่างไฟฟ้าที่ถูกสังหารที่นครปฐม ปรากฏว่าการรณรงค์ประสบผลจนทำให้มหาวิทยาลัยต้องประกาศเลื่อนการสอบออกไปอย่างไม่มีกำหนด ต่อมาเวลาประมาณ 15.30 น. ประชาชนเริ่มทยอยกันมาชุมนุมที่สนามหลวง แล้วเกิดฝนตก แต่ในขณะเดียวกันมีสัญญาณบ่งบอกว่าในช่วงกลางคืนน่าจะมีการคุกคามโดยกลุ่มที่ต่อต้านนิสิต นักศึกษา ซึ่งมีแนวโน้มว่าผลักดันโดยขบ...